ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการหารือร่วมกันเมื่อคืนนี้ เพื่อหาบุคคลขึ้นมาแทนที่นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งกำลังจะหมดวาระ 5 ปีในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการประกาศชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ในเดือนหน้า
การหารือเมื่อคืนนี้เป็นไปอย่างดุเดือดเพราะไม่เป็นไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กับนายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องผู้ที่ควรดำรงตำแหน่งนี้
นางแมร์เคิลนั้นได้เสนอชื่อนายแมนเฟรด เวเบอร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติเยอรมนีผู้มีแนวคิดการเมืองแบบขวา-กลาง แต่นายมาครองได้แสดงเสียงคัดค้านการเสนอชื่อดังกล่าว
นายมาครองให้เหตุผลว่า การเสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งที่มีความสำคัญเช่นนี้ควรมีความเสมอภาคในแง่ของเพศ โดยควรมีการเสนอชื่อผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 2 คน
ด้านนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ไม่ได้หารือถึงชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนใหม่แต่อย่างใด เพียงแค่หารือเรื่องกระบวนการสรรหาประธาน EC คนใหม่เท่านั้น
นายทัสก์เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังงานเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำอย่างไม่เป็นทางการกับผู้นำ EU ว่า การหารือเมื่อวานนี้ยืนยันข้อตกลงของผู้นำ EU ในเดือนก.พ.ปีที่แล้วว่า คณะมนตรียุโรปจะมีบทบาทในการสรรหาประธาน EC คนใหม่ ซึ่งหมายความว่า ตามสนธิสัญญานั้น การคัดเลือกประธาน EC จะไม่ได้เป็นไปแบบอัตโนมัติ
นายทัสก์กล่าวในการแถลงข่าวว่า "ในเวลาเดียวกัน ก็จะไม่มีใครถูกกีดกัน การเป็นผู้สมัครนำ ไม่ใช่การตัดสิทธิ์ ในทางตรงกันข้าม อาจเพิ่มโอกาสของพวกเขา โดยสนธิสัญญามีความชัดเจน คณะมนตรียุโรปควรจะเสนอชื่อ และรัฐสภายุโรปจะทำการคัดเลือก"
"ดังนั้น อนาคตของประธาน EC จะต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในคณะมนตรียุโรป และเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภายุโรป" นายทัสก์ระบุ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเพิ่งปิดฉากลง โดยถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 9 นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2522 ปัจจุบันรัฐสภายุโรปมีสมาชิกทั้งสิ้น 751 คน ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 512 ล้านคนจาก 28 ประเทศสมาชิก