บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกหลายราย เช่น อินเทล ควอลคอมม์ อินเตอร์ดิจิทัล และแอลจียูพลัส ได้สั่งห้ามไม่ให้พนักงานพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีและมาตรฐานทางเทคนิคกับพนักงานของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่ต้องการมีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐซึ่งได้สั่งแบนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างหัวเว่ย แม้รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ห้ามพูดคุยเลยก็ตาม
โดยทั่วไปแล้ว ทีมวิศวกรของบริษัทเหล่านี้ รวมถึงของหัวเว่ย มักมีการพบปะกันเพื่อพูดคุยเรื่องมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น เทคโนโลยี 5G
ทั้งนี้ หัวเว่ยกำลังเผชิญกับแรงกดดันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อห้ามบริษัทของสหรัฐจากการใช้เทคโนโลยีและบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้เอ่ยชื่อหัวเว่ยออกมาตรง ๆ แต่ก็เป็นที่รู้ดีกันว่าการดำเนินการดังกล่าวพุ่งเป้ามายังหัวเว่ยอย่างชัดเจน จนทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทในเครืออีก 70 แห่งไว้ใน "Entity List" ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ
หลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐร่วมงานกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เป็นการชั่วคราว โดยอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ของหัวเว่ยได้ โดยการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะมีผลจนบังคับใช้จนถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้
ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า ทางกระทรวงจะเผยแพร่รายชื่อบริษัทต่างชาติ องค์กร และบุคคล ซึ่งทางกระทรวงมองว่าไม่น่าเชื่อถือ และเป็นภัยต่อบริษัทของจีน ในเร็ว ๆ นี้ โดยมีการมองกันว่า การที่จีนจัดทำบัญชีรายชื่อดังกล่าว ก็เพื่อตอบโต้สหรัฐที่ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อสินค้าจากบริษัทอื่น ๆ หากไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐ