นักวิชาการชาวสิงคโปร์ชี้ เหตุการณ์ประท้วงครั้งรุนแรงในฮ่องกงได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ขึ้นมา เมื่อผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนเพื่อเลี่ยงการถูกจับ เลือกใช้โซเซียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูล และปลุกระดมให้ผู้คนออกมารวมตัวกัน
นักวิชาการอาวุโสจาก Singapore Management University กล่าวว่า โซเซียลมีเดียได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนให้ต่างไปจากเดิม ดังจะได้เห็นได้จากการที่โซเซียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประท้วงที่กำลังปะทุรุนแรงในฮ่องกงตอนนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้การใช้โซเซียลมีเดียในการกระตุ้นความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงที่มีการชุมนุมครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อปี 2557 หรือที่เรียกกันว่า "การปฏิวัติร่ม" แต่สิ่งที่น่าสนใจตอนนี้ก็คือ กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และเรียนรู้วิธีการใช้งานสื่อประเภทนี้ให้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นกว่าเดิม
การประท้วงในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว และยิ่งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเป้าหมายของผู้ชุมนุมได้ลุกลามบานปลายจากเดิมที่เป็นการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กลับกลายมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้นางแคร์รี ลัม ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมทั้งการทำให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกง ร่วงลงถึง 12% ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ขณะที่สื่อของรัฐบาลจีนได้ออกมาเตือนว่า ผู้ประท้วงในฮ่องกงกำลังหาเรื่องทำลายตัวเอง พร้อมปล่อยคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นรถถังของกองทัพจีนกำลังรวมพลใกล้ชายแดนฮ่องกง ก่อให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจเตรียมใช้กำลังในการจัดการสถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกง
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงวางแผนชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แม้ว่า จะเกิดเหตุปะทะที่รุนแรงขึ้นในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดสนามบินฮ่องกงก็ตาม