ชาวอังกฤษพากันแสดงความไม่พอใจต่อการที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีคำสั่งขยายเวลาปิดสมัยประชุมสภา โดยได้ลงชื่อในเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษเพื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าวกว่า 1 ล้านรายชื่อภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงแรกที่เปิดให้ลงชื่อดังกล่าว
ล่าสุดจำนวนรายชื่อที่คัดค้านการขยายเวลาปิดสมัยประชุมสภาได้ทะลุ 1.4 ล้านรายชื่อแล้ว
ที่ผ่านมา หากชาวอังกฤษเข้าชื่อกันยื่นเรื่องร้องเรียนใดก็ตามในเว็บไซต์ดังกล่าวมากกว่า 1 แสนรายชื่อ สมาชิกรัฐสภาก็จะพิจารณาอภิปรายเรื่องดังกล่าวในสภา
นอกจากการลงชื่อในเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษแล้ว ชาวอังกฤษจำนวนหลายพันคนยังได้เดินขบวนประท้วงตั้งแต่ด้านหน้าของอาคารรัฐสภาไปจนถึงบ้านพักของนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิ่ง
ขณะเดียวกัน ยังเกิดการชุมนุมประท้วงในเมืองต่างๆของอังกฤษ เช่น แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล และเอดินเบอระ
ทางด้านสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษราว 70 คนได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลสกอตแลนด์ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า การที่นายจอห์นสันขยายเวลาปิดสมัยประชุมสภา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลได้พิจารณานัดไต่สวนในวันนี้
เมื่อวานนี้ นายจอห์นสันสั่งพักสมัยประชุมสภาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ
สมาชิกพรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลว่า นายจอห์นสันไม่มีสิทธิขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในการพักสมัยประชุมสภาดังกล่าว
"เรายื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการตัดสินใจของท่านนายกรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" นางโจอันนา เชอร์รี สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคสกอตติช เนชั่นแนล กล่าว
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นายจอห์นสันปิดสมัยประชุมสภาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.จนถึงวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกสภามีเวลาเหลือเพียง 2 สัปดาห์ในการอนุมัติกฎหมายเพื่อยับยั้งอังกฤษจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค.โดยไม่มีข้อตกลง
ก่อนหน้านี้ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษมีกำหนดกลับเข้าประชุมสภาในสัปดาห์หน้า โดยจะมีการประชุมไปจนถึงวันที่ 9 ก.ย. ก่อนที่จะมีการพักสมัยประชุมเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ จัดการประชุมภายในพรรค แต่การดำเนินการของนายจอห์นสันในครั้งนี้ได้ทำให้การพักสมัยประชุมสภายาวนานขึ้นเป็น 5 สัปดาห์
ถึงแม้ว่าการปิดรัฐสภาก่อนการเสด็จเปิดประชุมสภาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามปกติในอังกฤษ แต่การดำเนินการดังกล่าวของนายจอห์นสันในครั้งนี้เพื่อจำกัดสมัยประชุมสภาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU ได้สร้างความไม่พอใจต่อสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ