สื่อรายงานว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะยื่นต่อสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำ EU
หนังสือพิมพ์เดลี่ เทเลกราฟรายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU รายหนึ่งว่า "ข้อเสนอนี้มีความบกพร่องตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ถ้านี่เป็นข้อเสนอที่ให้เลือกระหว่างยอมรับหรือปฏิเสธ เราคิดว่าไม่ต้องพิจารณาข้อเสนอนี้ดีกว่า และให้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการขยายเส้นตาย Brexit"
ทั้งนี้ นายจอห์นสันกล่าวต่อที่ประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมในวันนี้ว่า ข้อเสนอ Brexit ที่เขาจะยื่นต่อผู้นำ EU ในวันนี้ จะไม่มีการระบุถึงการตั้งด่านตรวจที่ชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์แต่อย่างใด
"เราจะไม่มีการตั้งด่านตรวจที่ชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เราจะเคารพกระบวนการเจรจาสันติภาพ และข้อตกลง Good Friday รวมทั้งรักษากฎระเบียบที่มีอยู่สำหรับเกษตรกรและภาคธุรกิจจากชายแดนทั้งสองฝั่ง" นายจอห์นสันกล่าว
ข้อเสนอดังกล่าวยังระบุว่า อังกฤษจะปล่อยให้ไอร์แลนด์เหนือมีความสัมพันธ์ทางการค้าแบบพิเศษกับ EU จนถึงปี 2568 ซึ่งหลังจากนั้น ไอร์แลนด์เหนือสามารถตัดสินใจว่าจะยังคงอยู่กับ EU หรือกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
นอกจากนี้ อังกฤษยังเสนอให้ไอร์แลนด์เหนือออกจากสหภาพศุลกากร EU หลังจากสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในปี 2564 พร้อมกับอังกฤษ ซึ่งจะมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป
นายจอห์นสันยืนยันว่า หาก EU ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว อังกฤษก็จะไม่เจรจาเพิ่มเติม และจะออกจาก EU ตามกำหนดเดิมในวันที่ 31 ต.ค.
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวของนายจอห์นสันยังคงไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบาย backstop ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การรักษาการเปิดชายแดนเสรีระหว่างระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์, การปกป้องระบบตลาดเดี่ยวของ EU และการรักษาไว้ซึ่งความร่วมมือกันตามข้อตกลงสันติภาพไอร์แลนด์เหนือในปี 2541 ซึ่งได้ช่วยยุติสงครามที่ได้เกิดขึ้นมานานร่วม 3 ทศวรรษ
ก่อนหน้านี้ EU ระบุว่า อังกฤษยังไม่ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหา backstop ซึ่งเป็นนโยบายในการรับประกันว่า จะไม่มีการกลับไปใช้มาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของ EU
ทั้งนี้ นโยบาย backstop ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในข้อตกลง Brexit โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU ต่างมีความกังวลว่า การใช้นโยบาย backstop จะเป็นการผูกมัดให้อังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU อย่างไม่มีกำหนด