นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ยื่นข้อเสนอการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ต่อสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวานนี้
อย่างไรก็ดี ผู้นำ EU ต่างก็มีการขานรับที่เย็นชาต่อข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่นายจอห์นสันหวังว่าเขาจะสามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ในการประชุมสุดยอดผู้นำ EU ในวันที่ 17-18 ต.ค. ซึ่งหาก EU ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว อังกฤษก็จะไม่เจรจาเพิ่มเติม และจะออกจาก EU ตามกำหนดเดิมในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีการทำข้อตกลง
ทางด้านสื่อรายงานว่า ข้อเสนอ Brexit ที่นายจอห์นสันยื่นต่อ EU มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำ EU
หนังสือพิมพ์เดลี่ เทเลกราฟรายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU รายหนึ่งว่า "ข้อเสนอนี้มีความบกพร่องตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ถ้านี่เป็นข้อเสนอที่ให้เลือกระหว่างยอมรับหรือปฏิเสธ เราคิดว่าไม่ต้องพิจารณาข้อเสนอนี้ดีกว่า และให้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการขยายเส้นตาย Brexit"
เจ้าหน้าที่ EU รายหนึ่งกล่าวว่า ข้อเสนอของนายจอห์นสันไม่สามารถดำเนินการได้ และเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งจะยิ่งทำให้อังกฤษและ EU มีความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ทันทีที่ไอร์แลนด์เหนือแยกตัวออกจากสหภาพศุลกากร EU
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวของนายจอห์นสันยังคงไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบาย backstop ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การรักษาการเปิดชายแดนเสรีระหว่างระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์, การปกป้องระบบตลาดเดี่ยวของ EU และการรักษาไว้ซึ่งความร่วมมือกันตามข้อตกลงสันติภาพไอร์แลนด์เหนือในปี 2541 ซึ่งได้ช่วยยุติสงครามที่ได้เกิดขึ้นมานานร่วม 3 ทศวรรษ
ก่อนหน้านี้ EU ระบุว่า อังกฤษยังไม่ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหา backstop ซึ่งเป็นนโยบายในการรับประกันว่า จะไม่มีการกลับไปใช้มาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของ EU
ทั้งนี้ นโยบาย backstop ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในข้อตกลง Brexit โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU ต่างมีความกังวลว่า การใช้นโยบาย backstop จะเป็นการผูกมัดให้อังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU อย่างไม่มีกำหนด