สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) ลงมติ 5-0 เมื่อวานนี้ เพื่อระบุว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ และบริษัท ZTE Corp ของจีนเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศ และห้ามไม่ให้ลูกค้าของหัวเว่ยและ ZTE ที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายในเขตชนบทของสหรัฐ ใช้เงินกองทุนของรัฐบาลมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือบริการของสองบริษัทดังกล่าว
นอกจากนี้ FCC ยังได้ลงมติข้อเสนอที่จะกำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายในชนบททำการถอดและเปลี่ยนอุปกรณ์ของหัวเว่ย และ ZTE ออกจากเครือข่ายที่มีอยู่
การลงมติของ FCC เป็นการดำเนินการล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อห้ามบริษัทสหรัฐจากการซื้ออุปกรณ์ของหัวเว่ยและ ZTE
ทั้งนี้ หัวเว่ยและ ZTE มีเวลา 30 วันในการโต้แย้งการระบุดังกล่าว และไม่คาดว่าจะมีการออกคำสั่งสุดท้ายให้ถอดอุปกรณ์ของสองบริษัทดังกล่าวออกจากเครือข่ายจนกว่าจะถึงปีหน้า
ก่อนหน้านี้ สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างการเปิดเผยข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ป ได้รับการยกเว้นจากบัญชีดำของสหรัฐ และสามารถเริ่มขายซอฟต์แวร์สำหรับกลุ่มตลาดแมส (mass-market) ให้กับหัวเว่ย
ทางด้านไมโครซอฟท์ได้ออกมายืนยันในเวลาต่อมาว่า บริษัทได้รับการอนุมัติให้ขายสินค้าดังกล่าวให้กับหัวเว่ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ทางกระทรวงได้เริ่มอนุมัติคำร้องของบริษัทในสหรัฐเกือบ 300 แห่ง เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศให้กับหัวเว่ย แม้ว่าไม่มีการระบุชื่อบริษัทที่เฉพาะเจาะจง
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่หลายรายของสหรัฐ อาทิ อินเทล คอร์ป, ควอลคอมม์ อิงค์ และไมครอน เทคโนโลยี อิงค์ ได้ยื่นขอยกเว้นด้วยเช่นกัน โดยหวังที่จะกลับมาทำข้อตกลงทางธุรกิจกับหัวเว่ยอีกครั้ง