ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารูของบราซิลประกาศขู่ในวันศุกร์ (5 มิ.ย.) ว่า เขาจะถอนบราซิลออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากที่ WHO เตือนรัฐบาลต่างๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ก่อนที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะชะลอตัวลง
แม้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบราซิลยังคงเพิ่มขึ้น แต่นายโบลโซนารูก็ยังคงต้องการยกเลิกคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาลในการกักกันโรค โดยเขาระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์นั้นรุนแรงกว่าความเสี่ยงด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในบราซิลพุ่งแซงอิตาลีแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดย Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของบราซิล ณ ขณะนี้อยู่ที่ 646,006 ราย ซึ่งถือเป็นยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับ 2 รองจากสหรัฐ และยอดผู้เสียชีวิตของบราซิลอยู่ที่ 35,047 ราย ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 3รองจากสหรัฐ และสหราชอาณาจักร
ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ Folha de S.Paulo ของบราซิลรายงานว่า เพียงแค่ 100 วันนับตั้งแต่นายโบลโซนารูระบุว่า โรคโควิด-19 เป็นเพียงแค่ "ไข้หวัดเล็กน้อย" นั้น "โรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตชาวบราซิลไปแล้วนาทีละหนึ่งคน"
มาร์กาเรต แฮร์ริส โฆษกของ WHO กล่าวว่า กฎเกณฑ์ที่สำคัญในการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ก็คือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องลดลง แต่บราซิลพยายามที่จะยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แม้ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันพุ่งขึ้นก็ตาม
ปธน.โบลโซนารูกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ว่า บราซิลจะพิจารณาการถอนตัวออกจาก WHO นอกเสียจากว่า WHO จะยุติการเป็น "องค์กรทางการเมือง"
ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรด้านอุดมการณ์ของนายโบลโซนารู ก็ได้เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐจะยุติความสัมพันธ์กับ WHO โดยกล่าวหา WHO ว่าเป็นหุ่นเชิดของจีนซึ่งเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การที่นายโบลโซนารูเพิกเฉยกับความเสี่ยงด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความพยายามที่จะยกเลิกมาตรการกักกันของรัฐนั้น ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงการการเมืองบราซิล ซึ่งบางคนกล่าวหาว่า นายโบลโซนารูใช้วิกฤตนี้เพื่อบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย