ทำเนียบขาวกังวลจีนยังคงนิ่งเฉยต่อการก่อรัฐประหารในเมียนมา

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 9, 2021 01:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐมีความกังวลต่อการที่จีนยังคงไม่ได้แสดงจุดยืนต่อการก่อรัฐประหารในเมียนมา

"เรามีความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนยังคงไม่ได้แสดงท่าทีต่อการทำรัฐประหารในเมียนมา" นางซากีกล่าว

ชาวเมียนมาจำนวนหลายหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นวันที่ 3 ในหลายเมืองทั่วประเทศ ขณะที่ตำรวจขู่ใช้กระสุนจริงจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง

ทั้งนี้ ในเมืองเนปิดอว์ ผู้ชุมนุมได้ตะโกนต่อต้านเผด็จการเมียนมา และเรียกร้องให้ตำรวจอยู่ฝ่ายประชาชน ไม่ใช่เผด็จการทหาร

อย่างไรก็ดี ตำรวจได้วางกำลังเป็น 3 แถวเพื่อรับมือกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกับชูป้ายแสดงข้อความ "เขตใช้กระสุนจริง หากผู้ชุมนุมบุกฝ่าตำรวจแนวที่ 3"

ก่อนหน้านี้ ตำรวจในเมืองเนปิดอว์ได้ฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง

ทางด้านกองทัพเมียนมาประกาศเคอร์ฟิวในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และอีกหลายเมืองในวันนี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากการที่ชาวเมียนมาทั่วประเทศได้พากันชุมนุมต่อต้านการทำรัฐประหาร

ทั้งนี้ ภายใต้คำสั่งเคอร์ฟิว ชาวเมียนมาจะไม่สามารถออกจากเคหะสถานในช่วงเวลา 20.00-04.00 น. และประชาชนไม่สามารถรวมตัวกันมากกว่า 5 คน

นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีเสถียรภาพในประเทศ ขณะที่ทางกองทัพจะยึดมั่นในหลักนิติรัฐ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ออกแถลงการณ์ไปยังนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ร่วมมือกันกดดันกองทัพเมียนมาเพื่อให้มีการปล่อยตัวบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้นายกูเตอร์เรสไม่ให้การรับรองรัฐบาลทหารของเมียนมาซึ่งได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันที ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี

นอกจากนี้ UNSC ยังแสดงความกังวลต่อการทำรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ขณะที่สัญญาว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น

กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้พรรค NLD ของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประสบความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง ท่ามกลางความผิดปกติในรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ