ทูตพิเศษ UN เตือนเมียนมาเลี่ยงใช้กำลังตอบโต้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐประหาร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 16, 2021 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ทูตพิเศษของ UN ได้ออกมาเตือนกองทัพเมียนมาถึงผลกระทบรุนแรงที่จะตามมา หากกองทัพใช้กำลังตอบโต้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร

แม้กองทัพจะส่งรถหุ้มเกราะและเจ้าหน้าที่ทหารเข้าประจำการในเมืองใหญ่ทั่วประเทศในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงออกมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อวานนี้ เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ

นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษประจำ UN ได้พูดคุยกับหัวหน้ารัฐบาลทหารของเมียนมาเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา

นายฟาร์ฮัน ฮัค โฆษก UN กล่าวว่า "ท่านทูตชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ได้เน้นย้ำกับผู้นำทหารเมียนมาให้เคารพสิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสงบ และการไม่ใช้กำลังตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม" ขณะเดียวกัน "ท่านทูตยังได้บอกให้กองทัพเมียนมารับทราบว่า ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และการตอบโต้ที่หนักหน่วง อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรง" โฆษก UN ระบุ

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม พลเอกโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการของฝ่ายบริหาร พร้อมกับชี้แจงสถานการณ์ที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา

โฆษก UN ระบุว่า "นอกเหนือไปจากการเรียกร้องให้กองทัพเคารพสิทธิมนุษยชนและสถาบันประชาธิปไตยแล้ว นางชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ยังเตือนรัฐบาลเมียนมาถึงเรื่องการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศด้วย"

เมื่อคืนนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ดำเนินการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นคืนที่สองติดต่อกัน ซึ่งได้เพิ่มความกังวลให้กับฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กองทัพออกมาประกาศระงับข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการค้นหา และควบคุมตัวประชาชน

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมา ซึ่งได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกจับกุมตั้งแต่เกิดรัฐประหารจนถึงเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) รวมทั้งสิ้น 426 คนได้ออกมาเรียกร้องว่า "การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม เช่นเดียวกับการจับกุมตัวพลเมืองโดยพลการ"

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมาในครั้งนี้เป็นเสมือนสิ่งที่เข้ามารื้อฟื้นความทรงจำอันขมขื่นของชาวเมียนมาที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและการนองเลือดเพื่อต่อสู้กับกองทัพมาเป็นเวลานานนับครึ่งทศวรรษ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงในปี 2554 เมื่อกองทัพยอมวางมือจากการปกครองเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลพลเรือนกลับเข้ามาบริหารประเทศ

ด้านกองทัพเมียนมาได้ออกมาประณามกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อคืนวันจันทร์ว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการทำลายความมั่นคงและสร้างความตื่นกลัวให้กับประชาชน

"ประชาชนยินดีที่มีทหารออกมาลาดตระเวน และหน่วยรักษาความปลอดภัยจะปฏิบัติหน้าที่ทั้งวันทั้งคืน" ทีมข้อมูล True News ของกองทัพเมียนมาระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ