นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย หรือที่เรียกกันว่า AUKUS สะท้อนถึงวิกฤติความไว้วางใจระหว่างพันธมิตรที่ต้องการคำอธิบาย
นายเลอ ดริยองกล่าวว่า "ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การฉีกสัญญา... แน่นอนว่ามันส่งผลเสียกับฝรั่งเศส แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งนี้เป็นการทำลายความไว้วางใจระหว่างพันธมิตร และทำให้พวกเราชาวยุโรปต้องไตร่ตรองอย่างหนักในแง่ของการมองพันธมิตรและความร่วมมือของเรา"
นายเลอ ดริยองเสริมว่า "สิ่งที่สำคัญในขณะนี้ อย่างแรกสุดก็คือ การทำลายความเชื่อใจระหว่างพันธมิตร เพราะความเชื่อใจ คู่ค้า และพันธมิตร หมายถึงความโปร่งใสและคาดการณ์ได้ มันต้องมีคำอธิบาย มันควรต้องมีการหารือกับอีกฝ่าย ไม่ใช่การหลบซ่อนจากอีกฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความสำคัญ"
นายเลอ ดริยองซึ่งอยู่ในนิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) กล่าวว่า เขาไม่ประสงค์จะพบกับนายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ
"แน่นอนว่าผมอาจเจอเขาที่นี่ หรือตรงทางเดินนั่น" นายเลอ ดริยองกล่าว
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้ยกเลิกข้อตกลงกับ Naval Group บริษัทต่อเรือสัญชาติฝรั่งเศส ในการสร้างกองเรือดำน้ำแบบธรรมดา และจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐและอังกฤษ หลังบรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐ และอังกฤษ หรือที่เรียกว่า AUKUS
รายงานระบุว่า การยกเลิกข้อตกลงนี้ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ โดยกล่าวหาทั้งออสเตรเลียและสหรัฐว่าแทงข้างหลัง และตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐและออสเตรเลียกลับประเทศ