แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยกับสำนักข่าวเกียวโดในวันนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ เพื่อจัดซื้อยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานที่พัฒนาโดยบริษัท เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) มีฤทธิ์ป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายหรือเพิ่มจำนวนในร่างกาย และเป็นยาที่สามารถซื้อกลับบ้านได้ ต่างจากยาที่มีอยู่เดิมอย่างยาคาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab) ซึ่งต้องฉีดให้แก่ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดตามการรักษาโดยใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมหรือแอนติบอดีค็อกเทล (Antibody cocktail) ยาโมลนูพิราเวียร์จึงเป็นความหวังในการลดภาระในระบบสาธารณสุขได้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เมอร์คมีกำหนดยื่นเรื่องขออนุมัติให้ใช้ยาได้เป็นกรณีฉุกเฉินในสหรัฐ โดยคาดว่ากระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นจะดำเนินการในทางเดียวกันกับรัฐบาลสหรัฐ ด้วยการอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์โดยเร็วเมื่อมีการยื่นเรื่องขอใช้ภายในญี่ปุ่น
ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดลองทางคลินิกในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกาพบว่า การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง
ขณะเดียวกัน บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ, บริษัทโรช โฮลดิ้ง เอจี ซึ่งเป็นบริษัทดูแลสุขภาพของสวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทชิโอโนกิ แอนด์ โค ของญี่ปุ่น ต่างก็กำลังพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 แบบรับประทานด้วยเช่นกัน