เมียนมาโวยอาเซียนไม่ให้เกียรติ หลังเมินเชิญ "มิน อ่อง หล่าย" ร่วมประชุมซัมมิต

ข่าวต่างประเทศ Monday October 25, 2021 21:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เมียนมาแสดงความไม่พอใจต่อการที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ได้เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ตุลาคม

พ.อ.พิเศษ จอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า การที่อาเซียนเชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่กลับไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถือเป็นการไม่ให้เกียรติต่อเมียนมา

"ที่จริงแล้ว ประมุขของรัฐควรได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด การกระทำของอาเซียนถือเป็นการดูหมิ่นต่ออธิปไตยของเมียนมา ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวหรือไม่" พ.อ.พิเศษ จอ มิน ตุน กล่าว

ทั้งนี้ อาเซียนจะจัดการประชุมสุดยอดผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 26-28 ตุลาคมเพื่อกดดันให้เมียนมาอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเดินทางเข้าประเทศเพื่อเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา

ร่างแถลงการณ์ของบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งเป็นประธานอาเซียน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อในการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนเมษายนเพื่อหาทางออกต่อวิกฤตการเมืองภายในประเทศ "ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ โดยให้สามารถเข้าเยี่ยมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"

ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษของอาเซียนในร่างแถลงการณ์ดังกล่าวเล็งถึงนายเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไน ซึ่งรัฐบาลทหารของเมียนมาไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเนื่องจากนายยูซอฟต้องการเข้าพบ"บุคคลบางคน" ซึ่งหมายถึงนางออง ซาน ซูจี และผู้นำฝ่ายค้านคนอื่นๆ

ผู้นำอาเซียนรวมทั้งชาติหุ้นส่วนในการเจรจา เช่น สหรัฐ จีน และรัสเซีย จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ยกเว้นพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ทางด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้แนวคิดหลัก "เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง" (We care, We prepare, We prosper) ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายในทุกมิติทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ จะทรงเป็นองค์ประธานการประชุมสุดยอดทั้งหมด โดยมีผู้นำหรือผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน ตลอดจนผู้นำของคู่เจรจาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกและองค์การการค้าโลกได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ในช่วงเริ่มต้นการประชุมเพื่อบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 และการสร้างเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียนทั้งหมดจำนวน 12 การประชุม ตามเวลาประเทศไทย ดังนี้

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2564

08.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38

10.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39

12.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22

14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24

20.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 9

วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564

09.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24

11.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 1

14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 24

18.00 น. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564

10.15 น. การประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ สามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ครั้งที่ 13

12.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18

14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4

15.30 น. พิธีปิดและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน

โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นสำคัญที่จะผลักดัน อาทิ การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักในการหารือของทุกกรอบการประชุม โดยไทยสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาเพื่อรับมือการแพร่ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-๑๙ อย่างรอบด้าน การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค "Next Normal" และการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 กัมพูชาจะรับไม้ต่อในการเป็นประธานอาเซียน และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 25 ฉบับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ