ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการควบคุมการส่งออกสินค้าให้กับรัสเซีย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถเข้าถึงสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องบิน
ปธน.ไบเดนได้ออกแถลงการณ์ที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า นอกเหนือจากการควบคุมการส่งออกสินค้าให้กับรัสเซียแล้ว มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมนี้จะพุ่งเป้าไปที่ธนาคารรายใหญ่ของรัสเซีย, การจำกัดความสามารถของรัสเซียในการทำธุรกิจด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเงินเยน รวมทั้งควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทคที่รัสเซียจำเป็นต้องใช้
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังได้สั่งการให้เพิ่มกำลังทหารเข้าประจำการในยุโรปทั้งทางบกและทางอากาศ รวมทั้งเพิ่มกำลังทหารที่เข้าประจำการในเยอรมนี โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังทหารขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่มีเป้าหมายเพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซีย
"กองกำลังทหารของเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กองกำลังของเราไม่ได้เข้าไปในยุโรปเพื่อต่อสู้ในยูเครน แต่จะป้องกันพันธมิตรของเราในนาโต และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรของเราในภูมิภาคฝั่งตะวันออก" ปธน.ไบเดนกล่าว พร้อมกับย้ำว่า นาโตจะจัดการประชุมในวันศุกร์นี้ (25 ก.พ.)
รัสเซียได้บุกโจมตียูเครนทั้งทางบก ทะเล และอากาศเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์รุกรานประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า ทหารรัสเซียสามารถเข้ายึดโรงงานนิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิลของยูเครนแล้ว
นายมิคาอิล โพโดยัค ผู้ช่วยของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเปิดเผยว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดว่าโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลมีความปลอดภัย หลังจากที่ถูกรัสเซียโจมตี นี่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามใหญ่ที่สุดในยุโรป"
ทั้งนี้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิลได้เกิดระเบิดขึ้นในปี 2529 ส่งผลให้กากนิวเคลียร์จำนวนมากฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้หลายพื้นที่ในยุโรปปนเปื้อนกัมมันตรังสี และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง