ประชาชนชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์ออกเสียงเตรียมตบเท้าออกไปเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศในวันเสาร์ที่ 21 พ.ค.นี้ โดยมีแนวโน้มว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูสี เพื่อเฟ้นหาผู้นำคนใหม่มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นที่บ่งชี้ว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้มีความสูสีอย่างยิ่ง แต่ใครก็ตามที่คว้าชัยชนะจะต้องต่อสู้กับประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ค่าครองชีพที่แพงขึ้นและต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้น หลังออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษ
ความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการรณรงค์หาเสียงภายในประเทศสำหรับตัวเก็งในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน จากพรรครัฐบาลผสมอย่างพรรคเสรีนิยมแห่งออสเตรเลียและพรรคชาติแห่งออสเตรเลีย ซึ่งจะต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งจากคู่แข่งฝ่ายค้านคนสำคัญอย่างนายแอนโทนี อัลบานี ผู้นำพรรคแรงงาน
นักวิเคราะห์เปิดเผยว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ อยู่เหนือการควบคุมของทุกพรรคการเมืองและผู้ที่ชนะศึกเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเข้ามาต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้
"ไม่ว่าผู้สมัครเลือกตั้งรายใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องจัดการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยพวกเขาต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเงินเฟ้อ แรงกดดันค่าครองชีพและความไม่แน่นอนทั่วโลกจากผลพวงของสงครามในยุโรป" นายซาเรห์ กาซาเรียน อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยโมนาชกล่าว
เงินเฟ้อในออสเตรเลียแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในเดือนเม.ย. โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่ง 5.1% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารปรับตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ ทั้งยังเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษ
ผลสำรวจความเห็นของที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์แสดงให้เห็นว่า พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักมีคะแนนนำฝ่ายพรรครัฐบาลผสม แต่สูสีที่ 51% ต่อ 49% ขณะที่เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 54% ต่อ 46%