กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่าได้ออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัท 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง, 3 แห่งในอิหร่าน และ 4 แห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตลอดจนนายจิ่งเฟิง เกา ชาวจีน และนายโมฮัมเหม็ด ชาฮีด รุกนูดดิน โบร์ ชาวอินเดียที่มีส่วนช่วยอิหร่านในการส่งออกปิโตรเคมีภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้อิหร่านรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 อีกครั้ง
"สหรัฐแสวงหาแนวทางการทูตที่มีความหมาย เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างบรรลุผลตอบแทนที่เป็นไปตามข้อตกลงแผนปฏิบัติการร่วมที่สมบูรณ์แบบในระยะยาว หากไม่มีข้อตกลง เราจะยังคงเดินหน้าใช้อำนาจในการคว่ำบาตรต่อไปเพื่อจำกัดการส่งออกปิโตรเลียม, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีภัณฑ์จากอิหร่าน" นายไบรอัน เนลสัน ปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายข่าวกรองด้านการก่อการร้ายและการเงินระบุในแถลงการณ์ โดยกล่าวถึงข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านจะต้องกำหนดข้อจำกัดในโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อสกัดกั้นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ, สหภาพยุโรป (EU) และสหประชาชาติ (UN) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน
ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2561 และนำมาตรการคว่ำบาตรกลับมาใช้อีกครั้ง เป็นเหตุให้อิหร่านเริ่มละเมิดข้อจำกัดด้านนิวเคลียร์ในปีต่อมา ส่วนการเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าวนั้นยังคงล้มเหลวมาจนถึงปัจจุบัน