นักวิเคราะห์กล่าวว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังไม่มี "ต้นทุนทางการเมือง" ที่มากพอจะผลักดันไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แม้จะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ได้ที่นั่งในวุฒิสภาจำนวน 63 ที่นั่ง ส่วนพรรคโคเมอิโตะซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลคว้าไปได้ 13 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 125 ที่นั่งตามข้อกำหนดในการเลือกตั้งส.ว.ของญี่ปุ่น ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าหลังจากที่นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีถูกลอบสังหารขณะช่วยผู้สมัครปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งที่จังหวัดนารา และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.)
นายโทเบียส แฮร์ริส นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียประจำศูนย์ความก้าวหน้าแห่งอเมริกา (Center for American Progress: CAP) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า แม้ชัยชนะในครั้งนี้จะส่งผลให้นายคิชิดะมีอำนาจควบคุมทิศทางของทั้งสองสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะสามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นจริงได้ในเร็ว ๆ นี้
"แม้จะมีปัจจัยแวดล้อมด้านเงินเฟ้อและคะแนนความนิยมของนายคิชิดะที่ร่วงลงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่า นั่นไม่ได้มีผลต่อการเลือกตั้ง แต่ก็อาจทำให้นายคิชิดะรู้สึกว่า เขายังไม่มีต้นทุนทางการเมือง"
นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า "อย่าลืมว่า เขาจะใช้ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้เพื่อปรับปรุงนโยบายความมั่นคงของประเทศ อย่างที่เราได้ทราบถึงการหารือครั้งใหญ่ไปแล้วเรื่องงบในการป้องกันประเทศที่คาบเกี่ยวไปถึงปีงบประมาณต่อไป" และยังระบุเสริมว่า "เราจะต้องรอดูกันต่อไปว่า สถานการณ์จะออกมารูปแบบใด อาจต้องรอดูอีกปีหลังจากนี้"
ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญหลังสงครามนั้นกำหนดให้ญี่ปุ่นห้ามทำสงครามตลอดไปหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุนี้ กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจึงไม่ได้มีไว้เพื่อทำสงคราม แต่มีไว้เพื่อป้องกันประเทศ