เว็บไซต์เดอะการ์เดียน.คอมรายงานว่า นางมาร์ชา แบล็กเบิร์น วุฒิสมาชิกของสหรัฐเดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศถึงไต้หวันเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.)
"ดิฉันเพิ่งเดินทางมาถึงไต้หวันเพื่อที่ส่งสารถึงจีนว่า เราจะไม่ยอมถูกรังแก" นางแบล็กเบิร์นทวีต
นางแบล็กเบิร์นเป็นผู้แทนต่างชาติรายที่ 4 ที่เดินทางเยือนไต้หวันนับตั้งแต่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเยือนไต้หวันเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยหลังจากการเยือนของนางเพโลซี นายอีริก โฮลคอมบ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา, ผู้แทนของญี่ปุ่น และผู้แทนจากลิทัวเนียก็ได้ต่อคิวเดินทางเยือนไต้หวันด้วยเช่นกัน
นายเคอิจิ ฟูรูยา สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่นทวีตว่า "การยั่วยุทางทหารของจีนและพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อื่น ๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสันติภาพและความปลอดภัยไม่ใช่เฉพาะต่อไต้หวันเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกโดยรวมด้วย"
การเยือนของเจ้าหน้าที่ต่างชาติยังคงทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจในเวทีต่างประเทศ และยังคงถูกประณามอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลจีน
รัฐบาลไต้หวันได้ให้การต้อนรับพวกเขาทุกคน พร้อมขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของนานาประเทศ และความเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านภัยคุกคามของรัฐบาลจีนที่ต้องการผนวกรวมไต้หวันด้วยกำลัง
นายโจเซฟ หวู่ รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันกล่าวเมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค.) ว่า การซ้อมรบของจีนจะไม่หยุดยั้งไต้หวันจากการแสวงหาการสนับสนุนจากนานาชาติ
"สิ่งที่จีนต้องการทำก็คือตัดไต้หวันออกจากการติดต่อกับนานาชาติ เพราะหากวันหนึ่งจีนโจมตีไต้หวัน ก็จะไม่มีประเทศใดให้การสนับสนุนไต้หวัน" เขากล่าว
ทั้งนี้ นางเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่แยแสคำเตือนจากจีน ซึ่งจีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งที่ทรยศต่อแผ่นดินใหญ่ และรอการรวมชาติด้วยกำลังหากจำเป็น
ผลกระทบที่ตามมาจากการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซีหรือเพโลซี เอฟเฟกต์ (Pelosi effect) ได้แก่การที่จีนทำการตอบโต้ด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่บริเวณรอบเกาะไต้หวัน รวมถึงข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างจีนกับไต้หวันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา