นายมาห์มุด อับบัสซาเดห์ เมชคินี สมาชิกกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศแห่งรัฐสภาอิหร่าน เรียกร้องให้ชาติตะวันตกเร่งบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ไม่เช่นนั้นอิหร่านจะพิจารณา "ทางเลือกอื่น"
นายเมชคินีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอว่า "ข้อตกลงที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอิหร่าน ชาติตะวันตกต้องการข้อตกลงนี้มากกว่าอิหร่าน หากชาติตะวันตกไม่ทำข้อตกลง เราก็มีทางเลือกอื่นให้พิจารณา อิหร่านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใด ๆ ที่กีดกันและจำกัดสิทธิพิเศษที่พึงปรารถนาของอิหร่าน"
นายเมชคินิยังตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาด้านการป้องกันภัยด้วยว่า การแก้ปัญหาการป้องกันสามารถกอบกู้ความไว้ใจระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกได้กลับคืนมาได้
ที่ผ่านมาอิหร่านย้ำหลายครั้งว่า รายงานของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เกี่ยวกับร่องรอยยูเรเนียมในอาคารนิวเคลียร์บางแห่งของอิหร่านในอดีตเป็น "เรื่องการเมือง" และกรณีนี้ควรจะถูกปิดไปพร้อมกับการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ 2558 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าแผนปฏิบัติการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ (Joint Comprehensive Plan of Action ? JCPOA
ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 เป็นการตกลงกันระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ชาติซึ่งได้แก่จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นในปี 2558 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แต่ในเดือนพ.ค. 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดด้วยการอ้างว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง และเมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รัฐบาลสหรัฐก็กำลังพยายามที่จะเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยสหรัฐได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับอิหร่านที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียและสหภาพยุโรปเป็นคนกลางนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 ซึ่งการเจรจามีความคืบหน้าบางส่วน โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุดเพื่อดูแลด้านนิวเคลียร์ และอีกชุดหนึ่งดูแลเรื่องการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม สหรัฐและอิหร่านยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของข้อตกลง โดยอิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเสียก่อนเพื่อแสดงความจริงใจในการเจรจา ขณะที่สหรัฐโต้ตอบกลับว่าจะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หากอิหร่านไม่หยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม