นายนิโคลัส คูมเจียน หัวหน้าคณะกลไกสืบสวนอิสระในเมียนมา (IIMM) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า บริษัทเฟซบุ๊กได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลนับล้านรายการ ที่สามารถรองรับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเมียนมาได้
นายคูมเจียนระบุในถ้อยแถลงต่อ UNHRC ณ กรุงเจนีวาว่า เฟซบุ๊กได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลนับล้านรายการแก่ IIMM เกี่ยวกับเครือข่ายบัญชีที่ถูกปิดไปเนื่องจากใช้ตัวตนปลอม
เมียนมากำลังเผชิญกับข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ICJ) จากกรณีการใช้กำลังทหารปราบปรามชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2560 ซึ่งบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ โดยต่อมาในปี 2561 ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของ UN ระบุว่า ได้มีการเผยแพร่วาจาสร้างความเกลียดชังผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเมียนมา
ทางด้านเฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อจัดการกับคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง พร้อมยืนยันจะสนับสนุนความพยายามในการจัดการคดีระหว่างประเทศซึ่งได้กระทำต่อชาวโรฮิงญา
ทั้งนี้ IIMM ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในปี 2561 และเริ่มต้นการดำเนินงานในปีต่อมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดทำแฟ้มคดี เพื่อการดำเนินคดีในศาลระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก