รัฐบาลอิหร่านเรียกตัวเอกอัครราชทูตอังกฤษและนอร์เวย์เข้าพบ จากข้อหาแทรกแซงและรายงานข่าวแบบเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลในกรณีเหตุประท้วงรุนแรงทั่วประเทศอิหร่านในขณะนี้
เหตุประท้วงดังกล่าวปะทุขึ้นกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่งานศพของน.ส.มาห์ซา อามินี สตรีชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ซึ่งเสียชีวิตในสถานกักขัง หลังถูกตำรวจศีลธรรม (morality police) จับกุมตัวในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ในข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมตามกฎข้อบังคับของอิหร่านที่กำหนดว่า ผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบปิดบังใบหน้าและไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปในที่สาธารณะ
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านเรียกตัวเอกอัครราชทูตอังกฤษโดยกล่าวหาว่าสำนักข่าวภาษาเปอร์เซียในลอนดอน "ประพฤติตัวเป็นศัตรู" ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษกล่าวว่าตนปกป้องเสรีภาพของสื่อ และประณามอิหร่านข้อหา "ปราบปรามผู้ประท้วง นักข่าว และเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต"
ขณะเดียวกัน ทางการอิหร่านก็เรียกตัวเอกอัครราชทูตของนอร์เวย์มาเพื่ออธิบาย "ท่าทีแทรกแซง" ของนายมาซุด การักคานี ประธานรัฐสภานอร์เวย์ ซึ่งแสดงการสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วง
สถานีโทรทัศน์ทางการของอิหร่านระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 รายนับตั้งแต่เกิดเหตุประท้วงขึ้น ส่วนสำนักข่าวกึ่งทางการ Mehr ระบุเมื่อวานนี้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวมี 8 รายที่เป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธบาซิจ (Basij) ภายใต้กลุ่มกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) แห่งอิหร่าน
ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่านกล่าวว่า อิหร่านรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเขาได้สั่งให้มีการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของน.ส.อามินีเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ปธน.ไรซียังกล่าวว่า "การก่อความวุ่นวาย" เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และอิหร่านต้องจัดการกับเหตุไม่สงบอย่างเด็ดขาด โดยในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) ปธน.ไรซีกล่าวว่า สื่อรายงานข่าวคดีของอามินีแบบ "สองมาตรฐาน" โดยอ้างว่าสหรัฐเองก็มีกรณีที่ประชาชนเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจเช่นกัน
อนึ่ง การเสียชีวิตของน.ส.อามินีจุดชนวนความโกรธแค้นในอิหร่านในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล การแต่งกายที่เข้มงวดสำหรับผู้หญิง และเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการถูกคว่ำบาตร