นายฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐแสดงความขอบคุณนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐเจ้าของบริษัทเทสลา จากกรณีที่นายมัสก์เสนอกำหนดให้ไต้หวันเป็นเขตบริหารพิเศษ แต่เน้นย้ำว่า จีนตั้งใจที่จะ "รวมชาติอย่างสันติและใช้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ" กับไต้หวัน
ทั้งนี้ หลังจากเพิ่งเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ไม่กี่วัน จนเกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรงในยูเครน นายมัสก์ก็ได้ออกมาเสนอให้จีนเข้ามาควบคุมไต้หวันบางส่วน เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน
"ผมเสนอให้กำหนดไต้หวันเป็นเขตบริหารพิเศษ แต่วิธีการนี้ไม่น่าจะทำให้ทุกคนพึงพอใจ" นายมัสก์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์สในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับจีน ซึ่งเทสลาได้ไปตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่นั่น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนประกาศมายาวนานแล้วว่าจะนำไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การปกครอง เพราะมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศ โดยไม่ปฏิเสธที่จะใช้กำลังบีบบังคับ ขณะที่ รัฐบาลไต้หวันที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของจีนมาโดยตลด พร้อมระบุว่า ไต้หวันที่มีประชากร 23 ล้านคนสามารถตัดสินอนาคตของตนเองได้
ในการกล่าวผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) นายฉินระบุว่า "ผมขอขอบคุณอีลอน มัสก์ต่อกรณีที่เขาเรียกร้องสันติภาพบนช่องแคบไต้หวันและข้อเสนอแนะให้กำหนดไต้หวันเป็นเขตบริหารพิเศษ"
"แต่การรวมชาติอย่างสันติและนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบคือหลักการพื้นฐานที่จีนมีต่อไต้หวัน โดยถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการรวมชาติ" นายฉินกล่าวเสริม
"ภายหลังที่มีการรวมชาติแล้ว ไต้หวันจะสามารถปกครองตนเองได้ในระดับสูงในฐานะเขตบริหารพิเศษและมีโอกาสพัฒนามากมาย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องรับประกันอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน"
อนึ่ง จีนเสนอใช้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" กับไต้หวัน โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับฮ่องกง แต่หลักการดังกล่าวเผชิญแรงต้านจากทุกพรรคการเมืองสำคัญในฮ่องกง อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะหลังจากที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติอันเข้มงวดในฮ่องกงเมื่อปี 2563
ด้านกระทรวงต่างประเทศไต้หวันปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะของนายมัสก์