ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศจีนและภาวะขาดแคลนยาต้านไวรัส เช่นยาแพ็กซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ทำให้ประชาชนแห่เข้าตลาดมืด
การยกเลิกการบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบฉับพลันเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและประชาชน เพราะดูเหมือนภาครัฐแทบไม่มีแผนรับมือปัญหาการพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มาพร้อมกับการเปิดเมือง เช่นการเข้าถึงยาต้านไวรัสที่ใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง เช่นผู้สูงอายุ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า สถานการณ์โรคระบาดที่ทวีความรุนแรงได้เพิ่มอุปสงค์ในการรักษา แต่ชาวจีนกลับต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอุปทานยาทั่วระบบการดูแลสุขภาพที่เริ่มแบกรับภาระหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประชาชนจึงแสวงหายาผ่านช่องทางออนไลน์ แม้เป็นยาที่ผลิตในต่างประเทศ อีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในจีน
ผู้ใช้งานเว่ยป๋อรายหนึ่งระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า เธอต้องซื้อยาแพ็กซ์โลวิดที่ผลิตในบังกลาเทศ เพราะมีญาติสูงอายุและไม่สามารถหายาในจีนได้ โดยเธอได้ยินมาว่าจีนนำเข้ายาแพ็กซ์โลวิดเป็นจำนวนมาก ทว่าคนธรรมดาทั่วไปกลับไม่อาจเข้าถึงยาได้ แต่ข้อความดังกล่าวถูกลบออกในเวลาต่อมา
ในวันเดียวกัน ผู้ใช้งานเว่ยป๋ออีกรายเรียกร้องการเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยเขาได้แบ่งปันรูปภาพที่โฆษณาว่ายาแพ็กซ์โลวิดที่ผลิตในอินเดียนั้นสามารถจัดส่งได้ทันทีที่ชำระเงินและยาจะส่งถึงมือลูกค้าในเวลา 2 ? 3 สัปดาห์
ในช่วงที่อุปสงค์พุ่งแซงหน้าอุปทานเช่นปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรในการจำหน่ายยาต้านไวรัส โดยหนังสือพิมพ์ 21st Century Business Herald ของเซี่ยงไฮ้รายงานว่า พนักงานคนหนึ่งในมณฑลกวางตุ้งยอมควักกระเป๋า 5,800 หยวน (830 ดอลลาร์) ให้กับนายหน้าฮ่องกงเพื่อซื้อยาแพ็กซ์โลวิด ซึ่งสูงกว่าราคาที่จำหน่ายอย่างเป็นทางการในจีนแผ่นดินใหญ่กว่าครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ 21st Century Business Herald รายงานด้วยว่า บรรดานายหน้าจำหน่ายยาต้านไวรัสจากต่างประเทศให้กับชาวจีนแล้วกว่า 50,000 กล่อง นับตั้งแต่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ในเดือนพ.ย.