สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จนถึงตอนนี้ เหล่าพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของยูเครนต่างปฏิเสธที่จะจัดหาเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน โดยได้ปฏิเสธคำขอสำคัญจากประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนก่อนที่การสู้รบจะลุกลามบานปลาย
ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐระบุเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) ว่า สหรัฐจะไม่จัดหาเครื่องบิน F-16 ให้แก่ยูเครน ขณะที่อังกฤษและเยอรมนีก็ปฏิเสธที่ส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนด้วยเช่นกัน
อังกฤษระบุว่า การส่งเครื่องบินรบไปยังยูเครนนั้นไม่สามารถทำได้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษจะกล่าวกับคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ว่า อังกฤษกำลังเร่งให้การสนับสนุนยูเครนมากขึ้นก็ตาม โดยนายแม็กซ์ เบลน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวกับนักข่าวเมื่อวานนี้ว่า "เครื่องบินรบของอังกฤษนั้นเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้นเราจึงคิดว่า การจัดส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ" พร้อมให้เหตุผลเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเรียนรู้วิธีใช้งานยุทโธปกรณ์ที่มีความ "สลับซับซ้อนอย่างมาก"
ขณะเดียวกัน ทางเบลเยียมเองก็ระบุว่า ไม่มีแผนจะส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน
นายอันดริจ เมลนีค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนระบุผ่านทวิตเตอร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ยูเครนจะได้รับชัยชนะโดยปราศจากกองกำลังทางอากาศสมัยใหม่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเรียกร้องขอเครื่องบินรบจากชาติตะวันตก เช่น F-16 และ F35 รวมถึงยูโรไฟเตอร์ (Eurofighter) และ ทอร์นาโด (Tornado)"
แม้ยูเครนจะประสบความสำเร็จในการป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย แต่ยูเครนก็ยังจะได้รับประโยชน์จากการมีระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการระดมยิงอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก ขณะที่เครื่องบิน F-16 อาจมีศักยภาพที่จะยิงสกัดขีปนาวุธร่อนแบบเดียวกับที่รัสเซียยิงใส่โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา