ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะส่งนายพลคนหนึ่งไปยังเมียนมาเพื่อหารือกับผู้นำรัฐบาลทหารเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ปธน.วิโดโดคาดหวังว่าเมียนมาจะสามารถถอดบทเรียนจากความสำเร็จของอินโดนีเซียในการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ ซึ่งทำให้อินโดนีเซียมีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา
"เราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว และผ่านสถานการณ์มาเหมือนกัน" ปธน.วิโดโดกล่าว และเสริมว่า เขาพร้อมที่จะเดินทางไปยังเมียนมาด้วยตนเอง แต่เห็นว่าจะเป็นการดีกว่า หากมีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน
ด้านสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา (NDSC) ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนในวันนี้ หลังจากที่ประกาศเดิมได้หมดอายุลงวานนี้
แถลงการณ์ของ NDSC ระบุว่า เมียนมายังคงเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ผู้บัญชาการกองทัพปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย โดยประกาศดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรา 425 แห่งรัฐธรรมนูญเมียนมา
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี และได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 2 ครั้งจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเป็นชาวเมียนมาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารมองว่า การประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการของกองทัพที่มีเจตนาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และขัดแย้งกับคำสัญญาของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งได้รับปากว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งทันทีหลังยึดอำนาจครบ 1 ปี โดยจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง