รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (23 ก.พ.) ว่า จะดำเนินการปฏิรูปนโยบายการส่งออกอาวุธโดยจะให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แทนนโยบายเดิมตั้งแต่สมัยอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเน้นหนักไปที่ด้านการค้า
นโยบายใหม่เกี่ยวกับการถ่ายโอนอาวุธปืนเพื่อการค้า (CAT) จะครอบคลุมถึงการตรวจสอบในเรื่องการช่วยเหลือด้านความมั่นคง การถ่ายโอนอาวุธแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และใบอนุญาตขายยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในสหรัฐและบริการที่เกี่ยวข้องที่ควบคุมดูแลโดยกระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรวมไปถึงอาวุธปืนที่วางจำหน่ายทั่วไปในสหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทด้านกลาโหมและนักเคลื่อนไหวต่างเพ่งเล็งนโยบายดังกล่าวเพื่อดูว่าจุดยืนของรัฐบาลไบเดนอยู่ตรงไหน ระหว่างการเน้นผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทผู้ส่งออกอาวุธอย่างล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Co.) และเรย์ธีออน เทคโนโลยีส์ (Raytheon Technologies) กับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในด้านสิทธิมนุษยชน
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า ตอนนี้นโยบาย CAT จะพิจารณาว่าอาวุธจากสหรัฐจะถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้หรือไม่
ภายใต้นโยบายใหม่นี้ การถ่ายโอนอาวุธจะไม่ได้รับการอนุมัติ หากกระทรวงต่างประเทศประเมินว่าอาวุธดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้เพื่อกระทำการหรืออำนวยความสะดวกในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, การละเมิดอนุสัญญาเจนีวา หรือการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ซึ่งแตกต่างจากนโยบาย CAT ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าการถ่ายโอนอาวุธจะไม่ได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อสหรัฐรับทราบอย่างชัดแจ้งแล้วเท่านั้นว่าอาวุธจะถูกนำไปใช้กระทำการดังกล่าว
"เรากำลังมองหานโยบายป้องกันในกรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่านโยบายนี้ยังอนุญาตให้ยกเลิกข้อตกลงได้หากพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากที่ประกาศใช้นโยบายแล้ว