นายราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ระบุว่า อิหร่านตกลงที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิดที่โรงงานนิวเคลียร์หลายแห่งอีกครั้ง และเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายกรอสซีกล่าวเมื่อวานนี้ (4 มี.ค.) ว่า "มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" ในการหารือกับรัฐบาลอิหร่านหลังการเยือนกรุงเตหะราน
นายกรอสซีเดินทางมาถึงอิหร่านในวันศุกร์ (3 มี.ค.) เพื่อจัดการเจรจากับเจ้าหน้าที่อิหร่านหลังพบว่าอนุภาคยูเรเนียมของอิหร่านได้รับการเสริมสมรรถนะจนเกือบใช้ทำอาวุธได้ โดยนายกรอสซีเข้าพบนายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งยอมรับว่า "ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความพยายามของทั้งสองฝ่าย"
นายกรอสซีกล่าวว่ามาตรการในการติดตั้งกล้องวงจรปิดอีกครั้งและในการเพิ่มการตรวจสอบควรจะมีขึ้น "เร็ว ๆ นี้" หลังการประชุมทางเทคนิค อย่างไรก็ดี ไม่มีการระบุเวลาชัดเจนในแถลงการณ์ร่วมกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่าน (AEOI)
ทั้งนี้ IAEA ได้แสวงหาความร่วมมือมากขึ้นกับอิหร่านเกี่ยวกับกิจกรรมนิวเคลียร์ หลังพบว่าอนุภาคยูเรเนียมมีการเสริมสมรรถนะถึง 83.7% ที่โรงงานใต้ดินฟอร์โดว์ (Fordow) ของอิหร่าน ซึ่งหากถึงระดับ 90% ก็จะสามารถใช้ผลิตระเบิดปรมาณูได้ ทำให้ IAEA เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม
ด้านอิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการทำระเบิดปรมาณูและกล่าวว่าไม่ได้พยายามทำให้ยูเรเนียมมีความบริสุทธิ์มากกว่า 60% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิหร่านยอมรับว่า "ความผันผวน...อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ" ในระหว่างกระบวนการเสริมสมรรถนะ
ผลการเยือนครั้งนี้ของนายกรอสซีจะเป็นตัวกำหนดว่าสหรัฐ ตลอดจนอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี จะตัดสินใจส่งร่างข้อมติประณามอิหร่านต่อคณะกรรมการผู้อำนวยการ IAEA หรือไม่ ซึ่งจะประชุมกันในสัปดาห์หน้าในกรุงเวียนนา
ในปี 2558 อิหร่านทำข้อตกลงกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจโดยสัญญาว่าอิหร่านจะจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนปรนจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวในปี 2561 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนั้น และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านอีกครั้ง เป็นผลให้อิหร่านเลิกควบคุมกิจกรรมนิวเคลียร์
การเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2564 แต่ยังไม่คืบหน้ามากนักนับตั้งแต่ปีที่แล้ว การเยือนอิหร่านของนายกรอสซีจึงถูกมองเป็นสัญญาณว่า แนวทางการเจรจากับอิหร่านอาจนำมาใช้เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ได้