สหรัฐระส่ำ เร่งค้นหาต้นตอทำเอกสารลับทางทหารรั่วไหลบนโลกออนไลน์

ข่าวต่างประเทศ Monday April 10, 2023 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจ้าหน้าที่สหรัฐเร่งค้นหาต้นตอที่ทำให้เอกสารลับรั่วไหลบนโลกออนไลน์ โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยเอกสารลับทางทหารและข่าวกรองระดับสูงตั้งแต่เรื่องการป้องปรามทางอากาศของยูเครนไปจนถึงมอสสาด (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยสายลับของอิสราเอล โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของตะวันตกและเจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า อาจเป็นฝีมือของคนในสหรัฐ

เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า ขอบเขตของประเด็นที่อยู่ในเอกสารที่รั่วไหลครั้งนี้ประกอบด้วยสงครามในยูเครน จีน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นฝีมือการปล่อยข้อมูลของชาวอเมริกัน ไม่ใช่พันธมิตร

"การรั่วไหลครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นฝีมือคนในสหรัฐ เนื่องจากเอกสารเหล่านี้ตกอยู่ในมือของสหรัฐเท่านั้น" นายไมเคิล มัลรอย อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์

เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า การไต่สวนเรื่องเอกสารลับรั่วไหลนี้เพิ่งอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น และยังไม่ตัดความเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้ฝักใฝ่รัสเซียเป็นผู้ปล่อยเอกสารเหล่านี้บนโลกออนไลน์ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีเอกสารด้านความมั่นคงรั่วไหลครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เอกสาร วิดีโอ และโทรเลขทางการทูตกว่า 700,000 ชิ้นรั่วไหลและถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์วิกิลีกส์ (WikiLeaks) ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม สถานทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตันและรัฐบาลรัสเซียยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

หลังการเปิดเผยเรื่องเอกสารรั่วไหลครั้งล่าสุดนี้ รอยเตอร์พบเอกสารกว่า 50 ฉบับที่ระบุว่าเป็นเอกสาร "ลับ" (Secret) และ "ลับสุดยอด" (Top Secret) ซึ่งปรากฎบนโซเชียลมีเดียครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค.

เอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งลงวันที่ 23 ก.พ.และถูกจัดเป็นเอกสาร "ลับ" ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการใช้ระบบป้องกันทางอากาศ S-300 ของยูเครนให้หมดภายในวันที่ 2 พ.ค. ณ อัตราการใช้งานปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อกองทัพรัสเซีย โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีและเจ้าหน้าที่ยูเครนได้จัดประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. เพื่อหาทางป้องกันการรั่วไหล

ส่วนเอกสารอีกฉบับถูกจัดเป็นเอกสาร "ลับสุดยอด" โดยเป็นเอกสารจาก CIA Intel ลงวันที่ 1 มี.ค. ระบุว่า มอสสาดสนับสนุนให้ประท้วงต่อต้านแผนของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ในการยกระดับการควบคุมศาลฎีกา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ