สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเหล่าประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกในการประชุมสุดยอดที่ปาปัวนิวกินีในวันนี้ (22 พ.ค.) ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีกำหนดการพบปะกับบรรดาผู้นำในภูมิภาคนี้และจะลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมกับปาปัวนิวกินี
นายโมดีกล่าวกับผู้นำทั้ง 14 คนที่เข้าร่วมเวทีความร่วมมือหมู่เกาะอินเดีย-แปซิฟิกว่า อินเดียจะทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่พึ่งพาได้สำหรับรัฐที่เป็นเกาะเล็ก ๆ และมุ่งมั่นส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม
"ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรายินดีที่จะแชร์ขีดความสามารถและประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม" นายโมดีกล่าวปราศรัยเปิดงาน
นายโมดีกล่าวเสริมว่า ผู้นำกลุ่มควอด (Quad) อันได้แก่ ออสเตรเลีย, สหรัฐ, ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้บรรลุข้อตกลงระหว่างการประชุมที่เมืองฮิโรชิมาเพื่อยกระดับความร่วมมือกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก
ในระหว่างการกล่าวเปิดงาน นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี เรียกร้องให้อินเดียนึกถึงรัฐเกาะเล็ก ๆ ที่ "ต้องทนทุกข์จากการกระทำของชาติใหญ่ ๆ" โดยยกตัวอย่างกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาเชื้อเพลิงกับพลังงานพุ่งสูงต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ คาดว่าจะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐ-ปาปัวนิวกินี และจะจัดการประชุมผู้นำจากประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกในช่วงบ่ายวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า รัฐบาลสหรัฐจะจัดสรรเงินทุนใหม่มูลค่า 45 ล้านดอลลาร์เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับปาปัวนิวกินี รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันสำหรับกองกำลังป้องกันประเทศ การบรรเทาภัยจากภาวะโลกรวน การจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อสู้กับเอชไอวี/เอดส์
อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยในปาปัวนิวกินีหลายแห่งจัดประท้วงตามวิทยาเขตต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้จีนไม่พอใจ ด้านนายมาราเปชี้แจงว่าข้อตกลงนี้จะไม่ขัดขวางความร่วมมือของปาปัวนิวกินีกับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญ