สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า รายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียฟื้นตัวขึ้นในเดือนมี.ค.และเม.ย. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งช่วยเสริมขีดความสามารถของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในการจัดหาเงินทุนเพื่อการทำสงครามกับยูเครน
ผลการวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของฟินแลนด์ ที่เปิดเผยออกมาในวันนี้ (24 พ.ค.) พบว่า รายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียฟื้นตัวขึ้นจากระดับของเดือนม.ค.และก.พ.
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า รัสเซียประสบความสำเร็จในการกอบกู้รายได้จากการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้จะเผชิญมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าเมื่อปลายปีที่แล้วจากสหภาพยุโรป (EU) และการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียจากกลุ่ม G7 ก็ตาม
รายงานฉบับนี้มีขึ้นภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากที่บรรดาผู้นำกลุ่ม G7 ระบุในสรุปการประชุมที่เมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่นว่า การกำหนดเพดานราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรัสเซียได้ผลเป็นอย่างดี รายได้ของรัสเซียลดลงและราคาน้ำมันและก๊าซที่ถูกลงก็เป็นผลดีต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจาก CREA ตั้งข้อสังเกตว่า ความล้มเหลวจากกลุ่มพันธมิตรที่ประสานงานเพื่อกำหนดเพดานราคา (Price Cap Coalition) เพื่อมุ่งแก้ไขระดับราคาและบังคับใช้นโยบาย ส่งผลให้มาตรการสูญเสียประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ
นายลอรี มิลเวอร์ทา หัวหน้านักวิเคราะห์ของ CREA และผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า "EU ล้มเหลวในความมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบเพดานราคาน้ำมันทุกๆ 2 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่า ราคายังคงต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของตลาด" และเสริมว่า "นี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวของ EU ไม่ได้ผล"
อย่างไรก็ตาม โฆษก EU ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว