รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของประเทศกลุ่ม G7 เตรียมจัดการประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น แชตจีพีที (ChatGPT)
นายทาเคอากิ มัตสึโมโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่นแถลงต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลุ่ม G7 จะจัดการประชุม AI ระดับคณะทำงานครั้งแรกในวันที่ 30 พ.ค. และพิจารณาประเด็นต่างๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การบิดเบือนข้อมูล และแนวทางกำกับดูแลเทคโนโลยีดังกล่าว
การประชุมครั้งนี้ขึ้นในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีทั่วโลกประเมินผลกระทบของบริการ AI ยอดนิยม เช่น แชตจีพีที ซึ่งเป็น AI ของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) ที่สนับสนุนโดยไมโครซอฟต์
ขณะเดียวกัน EU กำลังเตรียมออกกฎหมายฉบับแรกของโลกเกี่ยวกับ AI ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้รัฐบาลของประเทศอื่น ๆ พิจารณาว่าควรใช้กฎระเบียบใดกับเครื่องมือ AI
นายมัตสึโมโตะระบุว่า ในฐานะประธานปัจจุบันของกลุ่ม G7 นั้น ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI พร้อมเสริมว่าเวทีนี้มีเป้าหมายเพื่อเสนอข้อเสนอแนะสำหรับประมุขแห่งรัฐก่อนสิ้นปีนี้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่ม G7 เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการกำกับดูแล AI เนื่องจากมีความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อรับประกันการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบและจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของสังคม
ผู้นำ G7 ระบุในแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า G7 เห็นชอบในการจัดตั้ง "กระบวนการฮิโรชิมา" (Hiroshima Process) ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ จะจัดการหารือระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับ AI และรายงานผลในช่วงสิ้นปี
เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนา AI นั้นมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเชื่อถือได้นั้น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นจึงขอความร่วมมือเพื่อเข้าถึงกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย โดยให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ความพยายามดังกล่าว
ผู้นำอุตสาหกรรมและผู้นำรัฐบาลทั่วโลกได้เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบมากขึ้นกับ AI หลังจากที่แชตจีพีที ซึ่งเป็น AI ของบริษัทโอเพนเอไอ แซงหน้าบริษัทอื่น ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ มีความวิตกว่า ความก้าวหน้าของ AI ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบนั้นจะสร้างความเสี่ยง โดย AI สามารถสร้างข้อความ, รูปภาพและวิดีโอที่น่าเชื่อถือซึ่งดูเหมือนว่าทำขึ้นโดยมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีนี้ หากถูกใช้ในทางที่ผิด อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ และทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง