นายแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของทวิตเตอร์เปิดเผยเมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) ว่า ทวิตเตอร์ถูกข่มขู่ว่าจะถูกปิดให้บริการในอินเดีย ไนจีเรีย และตุรกี เว้นเสียแต่ว่าบริษัทจะยอมทำคำสั่งในการระงับบัญชีของผู้ใช้งาน โดยอินเดียต้องการควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียของบรรดานักข่าวและเหล่าผู้ประท้วง
ทั้งนี้ นายดอร์ซีย์ได้สิ้นสุดบทบาทในฐานะซีอีโอของทวิตเตอร์ในปี 2564 และทวิตเตอร์ถูกซื้อกิจการโดยนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาเมื่อปี 2565
นายดอร์ซีย์ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Breaking Points" บนยูทูบ (YouTube) ว่า "อินเดียเป็นประเทศที่มีข้อเรียกร้องมากมายจากเราที่เกี่ยวกับการประท้วงของเกษตรกร และนักข่าวบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล"
ในช่วงปลายปี 2564 เกษตรกรอินเดียได้ยุติการประท้วงที่ดำเนินต่อเนื่องนาน 1 ปี หลังได้รับการยินยอมจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้องเกี่ยวกับกฎหมายการเกษตรบางฉบับ ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยรัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียและพรรคภารตียชนตา (BJP) ของนายโมดี
นายดอร์ซีย์ระบุว่า "อินเดียมักจะแสดงออกด้วยท่าที เช่น "เราจะปิดทวิตเตอร์ในอินเดีย" ซึ่งอินเดียถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ สำหรับเรา หรือ "เราจะบุกบ้านพนักงานของพวกคุณ" ซึ่งพวกเขาก็ทำจริง ๆ หรือ "เราจะปิดสำนักงานของพวกคุณ หากคุณไม่ทำตามข้อเรียกร้องของเรา" และนั่นแหละครับคือ อินเดีย ซึ่งประเทศประชาธิปไตย"
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียได้ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปิดกั้นเนื้อหาออนไลน์ และระบุว่า ทางการมีเป้าหมายเพียงเพื่อจำกัดข้อมูลอันเป็นเท็จ (misinformation) และบรรดาโพสต์ที่บั่นทอนสันติภาพและความมั่นคง