นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 110 ล้านคน เนื่องจากความขัดแย้งในยูเครนและซูดานส่งผลให้ผู้คนหลายล้านชีวิตต้องระหกระเหินออกจากบ้านเรือน
UNHCR ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (14 มิ.ย.) ว่า นับจนถึงสิ้นปี 2565 จำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นราว 19 ล้านคน สู่ระดับ 105.4 ล้านคน นับเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนายกรันดีกล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความขัดแย้งในซูดาน ที่กินเวลานาน 8 สัปดาห์
"ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงสถานะของโลกในขณะนี้ ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องรายงานออกไป วิธีการแก้ปัญหาการพลัดถิ่นเหล่านี้ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ และยากเกินกว่าที่จินตาการถึง แม้แต่จะหยิบยกขึ้นมาหารือก็ยังเป็นเรื่องยาก เราอยู่ในโลกที่มีการแบ่งขั้วเป็นอย่างมาก ซึ่งความตึงเครียดระหว่างประเทศได้ส่งผลกระทบบานปลายไปถึงประเด็นด้านมนุษยธรรมด้วย" นายกรันดีกล่าวในการแถลงข่าวที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
รายงาน "การบังคับให้พลัดถิ่น (Forced Displacement)" ระบุว่า ในช่วง 2 ทศวรรษก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งในซีเรียเมื่อปี 2554 นั้น จำนวนผู้ลี้ภัยและจำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านคน แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จำนวนก็เพิ่มขึ้นทุกปี และในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยอัตราผู้พลัดถิ่นในขณะที่อยู่ที่ 1 ต่อ 74 คน
นายกรันดีกล่าวโทษสาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวว่า เกิดจากความขัดแย้ง การกดขี่ข่มเหง การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดและผู้ที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศ มาจากเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ซีเรีย ยูเครน และอัฟกานิสถาน
นายกรันดียังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศและการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศเดิม โดยไม่ระบุชื่อบรรดาประเทศนั้น ๆ
"เราพบว่ารัฐบาลมีความไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 2494 อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งบรรดารัฐบาลที่ได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้วก็ตาม" นายกรันดี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ นอกรอบการแถลงข่าว