สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียของญี่ปุ่นรายงานว่า ไทยกำลังพิจารณายอมใช้เครื่องยนต์จีนสำหรับเรือดำน้ำที่มีแผนจะซื้อจากจีน เนื่องจากเยอรมนีปฏิเสธที่จะส่งเครื่องยนต์ให้กับจีน
รายงานระบุว่า ไทยลงนามข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำจากจีนในราคา 369 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นว่าไทยกระชับความสัมพันธ์กับจีนในฐานะผู้จัดหาทรัพยากรทางทหาร โดยในขณะนั้น รัฐบาลทหารซึ่งนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามสานความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับจีน เนื่องจากได้รับท่าทีเย็นชาจากสหรัฐ ภายหลังการก่อรัฐประหารในปี 2557
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวติดขัดเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากเยอรมนีคัดค้านการใช้ผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อให้จีนส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทหาร ดังนั้นผู้ผลิตเรือดำน้ำของรัฐบาลจีนจึงได้เสนอให้ใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตในจีนสำหรับเรือดำน้ำที่จะขายให้กับไทย ซึ่งในตอนแรกทางการไทยปฏิเสธ โดยคาดว่าจะมีสาเหตุมาจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมของไทยระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยและทางการจีนจะพบปะและหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเรือดำน้ำในเดือนนี้
นอกจากนี้ แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมของไทยกล่าวเสริมว่า ไทยได้ขอข้อมูลจากปากีสถานเกี่ยวกับคุณภาพของเรือดำน้ำที่ผลิตโดยจีน โดยปากีสถานมีเรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan) ของจีนจำนวน 8 ลำ ซึ่งมีรายงานว่าใช้เครื่องยนต์เทียบเท่ากับที่จีนเสนอให้กับทางการไทย
แหล่งข่าวระบุว่า กองทัพเรือไทยยังได้มอบหมายให้นักกฎหมายตรวจสอบสัญญาของข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำจีนอย่างละเอียด และค้นหาช่องโหว่ทางกฎหมายที่จะทำให้สามารถแก้ไขเนื้อหาในข้อตกลง เพื่อเดินหน้าข้อตกลงต่อไป พร้อมกล่าวเสริมว่า "นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะอาจเกิดปัญหากับกองทัพเรือได้ หากมีการละเมิดสัญญา เนื่องจากต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก"
ด้านนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่า จีนพยายามล็อบบี้กองทัพเรือไทยให้ยอมรับเครื่องยนต์เรือดำน้ำของจีน
แซกคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ (National War College) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า "แม้จะมีการปรับปรุงเครื่องยนต์เรือดำน้ำของจีน แต่เครื่องยนต์ที่จีนนำเสนอสร้างเสียงรบกวนอย่างมาก" พร้อมระบุ จีนกำลังกดดันทางการทูตอย่างมากให้กองทัพเรือไทยยอมรับเครื่องยนต์ที่ผลิตในจีน"
นอกจากปากีสถานแล้ว จีนยังจัดหาเรือดำน้ำให้บังกลาเทศและเมียนมาเช่นกัน โดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองที่ติดตามด้านการค้าอาวุธทั่วโลก กล่าวว่า เรือดำน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการขยายอิทธิพลของจีนในฐานะผู้เล่นที่โดดเด่นในห่วงโซ่อุปทานทางทหารของเอเชีย
นักการทูตเอเชียในกรุงเทพระบุว่า "จีนมีบทบาทอย่างมากในข้อตกลงนี้ในฐานะผู้จัดหาอาวุธที่พึ่งพาได้" พร้อมระบุเสริมว่า "การตอบสนองจากข้าราชการกองทัพเรือไทย ซึ่งในตอนแรกต่อต้านข้อเสนอขายเรือดำน้ำเครื่องยนต์จีน ตามมาด้วยการยอมรับแบบมีเงื่อนไขและการหารือเพิ่มเติม แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันมหาศาลที่ไทยกำลังเผชิญจากจีนเพื่อรักษาชื่อเสียง"
ทั้งนี้ การจัดซื้ออุปกรณ์ทางการทหารจากจีนของไทยก็มีประวัติด้านราคาเช่นกัน โดยนายเกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าว "จากการสำรวจนายทหารไทย 1,800 นายระหว่างปี 2558-2560 เราพบว่าราคาเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดต่อความน่าดึงดูดของอุปกรณ์ทางทหารของจีน" ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สินทางทหารของไทยจึงเต็มไปด้วยปืนใหญ่, รถถัง และเรือฟริเกตชั้นเจียงหู (Jianghu) ที่ผลิตโดยจีน