ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) วางแผนจัดการซ้อมรบร่วมครั้งแรกในทะเลจีนใต้ในเดือนก.ย. ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแผ่ขยายอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวของจีน โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมองว่า การซ้อมรบดังกล่าวถือเป็นวิธีแสดงความสามัคคีในช่วงที่อาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทาย รวมถึงการรับมือวิกฤตในเมียนมา ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงความแตกแยกกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
"อาเซียนต้องยกระดับความร่วมมือกันด้วยความกระตือรือร้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพให้กับอาเซียนและภูมิภาค" พลเรือเอกยูโด มาร์กาโน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินโดนีเซียระบุหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำกลาโหมอาเซียนที่เกาะบาหลีเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.
พลเรือเอกมาร์กาโนระบุว่า ภารกิจซ้อมรบร่วมครั้งนี้จะจัดขึ้นที่ทะเลนาทูนาเหนือ นอกชายฝั่งประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเข้าร่วมด้วย ขณะที่ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมปฏิบัติการซ้อมรบร่วมครั้งนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ พลเรือเอกมาร์กาโนระบุด้วยว่า การซ้อมรบร่วมครั้งนี้จะประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า เดิมทีประเทศสมาชิกอาเซียนจะออกปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกับพันธมิตรนอกอาเซียน เช่น สหรัฐ ดังนั้นการซ้อมรบดังกล่าวจะเป็นการซ้อมรบในกลุ่มอาเซียนครั้งแรก
"การซ้อมรบร่วมในกลุ่มอาเซียนจะเป็นการฝึกความพร้อมด้านการทำงานร่วมกันของอาเซียนในด้านความปลอดภัยและการกู้ภัยทางทะเล แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ" นางชารอน ซีอาห์ นักวิจัยระดับอาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย
นางซีอาห์กล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ แต่ต้องรับมือกับการรุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะตลอดหลายปีที่ผ่านมา "ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ สนใจที่จะรับประกันเรื่องการยึดมั่นต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยสิงคโปร์ไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เช่นกัน"
"การซ้อมรบร่วมของอาเซียนถือเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีความสามัคคี" นางซีอาห์กล่าว
เช่นเดียวกับนายมูฮัมหมัด วาฟฟา คาริสมา นักวิจัยที่ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในกรุงจาการ์ตาระบุว่า การซ้อมรบร่วมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อาเซียนยังคงมี "วิสัยทัศน์เดียวกันและต้องการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค"