สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เยอรมนีมีบทบาททางทหารมากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่ก็พยายามสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
"อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญสูงมากสำหรับเยอรมนี เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป เนื่องด้วยการพึ่งพากันทางด้านเศรษฐกิจ" พลโทอัลฟอนส์ ไมส์ ผู้บัญชาการกองทัพบกเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (10 ก.ค.) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ทหารเยอรมันกลุ่มแรกจะออกเดินทางไปยังออสเตรเลีย
จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี และ 40% ของการค้าต่างชาติของยุโรปนั้นไหลเวียนผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำที่เป็นจุดศูนย์กลางของข้อพิพาทด้านอธิปไตยเหนือดินแดนในอินโด-แปซิฟิก
ในปี 2564 เรือรบเยอรมนีแล่นเข้าสู่ทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี และเมื่อปี 2565 เยอรมนีส่งเครื่องบินทหาร 13 ลำเพื่อร่วมซ้อมรบในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการเคลื่อนกำลังพลในยามสงบครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศเยอรมนี
พลโทไมส์กล่าวว่า ทหารเยอรมันมากถึง 240 นาย ในจำนวนนี้รวมถึง พลร่ม 170 นาย และนาวิกโยธิน 40 นาย จะเข้าร่วมการซ้อมรบทาลิสมันเซเบอร์ (Talisman Saber) ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. - 4 ส.ค. โดยการซ้อมรบดังกล่าวคือการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสหรัฐและออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ทหารเยอรมันจะเข้าร่วมฝึกการรบในป่า และการยกพลขึ้นบก ร่วมกับทหารจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และอังกฤษ
"เราตั้งเป้าที่จะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ และมีความสามารถ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเถียรภาพให้กับกฎระเบียบในภูมิภาค" พลโทไมส์ กล่าว