สว.สหรัฐเสนอร่างกฎหมาย ห้ามปธน.-สมาชิกสภาคองเกรสซื้อขายหุ้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 26, 2023 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) ว่า วุฒิสมาชิกสหรัฐ 2 รายเสนอร่างกฎหมายห้ามมิให้สมาชิกสภาคองเกรส ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารทำการซื้อขายหุ้น

นางเคิร์สเตน กิลลิแบรนด์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตกล่าวให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ที่โถงทางเดินว่า เธอและนายจอช ฮอว์ลีย์ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ได้เสนอ "กฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐซื้อขายหุ้น" อย่างเป็นทางการ หลังได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้

ร่างกฎหมายใหม่นี้จะต่อยอดจากกฎหมาย Stop Trading on Congressional Knowledge (STOCK) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันสมาชิกสภาคองเกรสและพนักงานของพวกเขาทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน โดยร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าวจะไม่มีข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบ Blind Trust และจะกำหนดบทลงโทษในระดับต่าง ๆ สำหรับสมาชิกสภาคองเกรสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ละเมิดกฎ

ข้อมูลสรุปร่างกฎหมายดังกล่าวที่จัดทำโดยสว.ทั้ง 2 รายระบุว่า อาจมีการกำหนดเบี้ยปรับเพิ่มเติมในคดีที่เกี่ยวข้องกับ "มูลค่าเงินจำนวนมาก" หรือ "มีลักษณะผิดธรรมดา"

อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าร่างกฎหมายนี้จะได้รับการพิจารณาในคณะกรรมการเมื่อใด หรือร่างกฎหมายจะถูกผลักดันเข้าสู่วุฒิสภาเต็มรูปแบบเพื่ออภิปรายและลงมติในปีนี้หรือไม่

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยื่นรายงานทุกครั้งที่ตนได้รับเงินอุดหนุน เงินกู้ สัญญา หรือเงินอื่นใดจากรัฐบาลกลาง ยกเว้นเงินเดือนหรือเงินคืนภาษี นอกจากนี้ จะเพิ่มเบี้ยปรับสำหรับการไม่ยื่นรายงานการทำธุรกรรมภายใต้กฎหมาย STOCK จากเดิม 200 ดอลลาร์ ให้เป็น 500 ดอลลาร์อีกด้วย

อนึ่ง ข้อมูลสรุปร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า กฎการห้ามซื้อขายหุ้นนั้นบังคับใช้กับผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐด้วยหรือไม่

ในขณะเดียวกัน วุฒิสภาพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันกฎหมายกำหนดหลักจริยธรรมสำหรับศาลสูงสหรัฐ หลังสื่อหลายสำนักรายงานว่า ผู้พิพากษาบางคนปิดบังข้อมูลธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์และการเดินทางสุดหรู อย่างไรก็ตาม ผู้นำพรรครีพับลิกันคัดค้านหลักจริยธรรมดังกล่าวโดยระบุว่า หน้าที่ในการกำกับดูแลศาลสูงควรอยู่ที่ตัวศาลสูงเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ