นอกจากนี้ จีนยังส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะผสมไททาเนียมมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์ไปยังรัสเซียในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของปีก่อนหน้า โดยโลหะดังกล่าวมีคุณสมบัติทนความร้อนและมีน้ำหนักเบา เหมาะจะใช้เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตเครื่องบินและอาวุธทางทหาร
ยุทโธปกรณ์จำนวนมากดังกล่าวจัดอยู่ในประเภท "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง" (dual-use) ซึ่งหมายความว่าสามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางพลเรือนและทางการทหาร ทำให้จีนสามารถเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติได้
จีนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้โดยแฝงตัวว่าเป็นบริษัททำกิจการด้านอื่น ข้อมูลจากโมลฟาร์ โกลบอล ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยโอเพ่นซอร์ส ระบุว่า บริษัทจีนชื่อซัวเถา หงหู พลาสติกส์ (Shantou Honghu Plastics) ส่งโดรน 1,000 ลำไปยังรัสเซียในช่วงสองเดือนก่อนเกิดสงครามในยูเครน โดยบริษัทดังกล่าวระบุในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียว่าตัวเองเป็นบริษัทขายของเล่นเด็ก
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสงสัยอย่างเช่น การขนส่งผ่านประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร โดยโมลฟาร์ระบุว่า จีนส่งออกเครื่องบินเทอร์โบเจ็ตและระบบนำทางขีปนาวุธเรดาร์ผ่านอินเดียและคอสตาริกา ก่อนที่จะส่งกลับออกไปยังรัสเซีย
ในขณะที่การค้าของจีนกับประเทศอื่น ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ทะลุ 2 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่จีนแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการว่าตนเป็นกลางในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และแม้กระทั่งพยายามวางตัวเป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย
การสนับสนุนของจีนครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อช่วยให้รัสเซียรับมือต่อมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกได้ ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของจีนในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซีย