สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวในวันนี้ (17 ก.ย.) ระบุว่า จีนเพิ่มการติดตามเฝ้าระวังชาวญี่ปุ่น หลังจากที่ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเล
รายงานระบุว่า จีนได้ตรวจสอบภูมิหลังของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเจรจาเรื่องการปล่อยน้ำ นอกจากนี้แล้ว กฎหมายต่อต้านการจารกรรมที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนก.ค. ได้ขยายขอบเขตของสิ่งใดก็ตามที่ถือเป็นการสอดแนม ภายใต้กฎหมายของจีน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองบางส่วนกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจพยายามจับกุมพลเมืองญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีน ซึ่งจีนภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้น เริ่มมีความระมัดระวังเกี่ยวกับกิจกรรมของชาวต่างชาติภายในประเทศมากขึ้น
ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีนมีมากกว่า 100,000 คน ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีกระแสความกังวลเพิ่มมากขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับจุดยืนของจีน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปฏิบัติต่อพลเมืองชาวญี่ปุ่นในฐานะตัวประกัน
ในเดือนเม.ย. 2564 ญี่ปุ่นตัดสินใจว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะได้อนุญาตให้เริ่มปล่อยน้ำเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากจีน
ญี่ปุ่นอ้างว่าการปล่อยน้ำดังกล่าวมีความปลอดภัย เนื่องจากน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วนั้นได้ถูกเจือจางเพื่อลดระดับไอโซโทปให้เหลือน้อยกว่า 1 ใน 40 ของความเข้มข้นที่อนุญาตภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติ ก่อนที่ปล่อยลงสู่ทะเล
การกระทำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับจีน โดยจีนวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นที่ยอมปล่อย "น้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์" ออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งพังเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อเดือนมี.ค. 2554