"พิธา" แจงผ่าน CNN ยังไม่หมดหวังเป็นนายกฯ หากศาลให้โอกาสชี้แจงปมถือหุ้นสื่อ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 26, 2023 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN ในวันอังคาร (25 ก.ค.) ตามเวลาสหรัฐ โดย CNN เป็นหนึ่งในสื่อต่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกลมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แต่นับจนถึงขณะนี้ไทยยังคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากนายพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีที่ถูกตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติในกรณีถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งทำให้นายพิธาถูกสกัดไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และนำไปสู่การคาดการณ์ที่ว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งมีคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับสอง จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทนนายพิธา

การให้สัมภาษณ์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในครั้งนี้ โดยคริสเตียน อมันปูร์ ผู้สื่อข่าวรุ่นเดอะของสถานีโทรทัศน์ CNN ยิงคำถามที่มุ่งเน้นถึงสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงถนนประท้วงของบรรดาผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ปมถือหุ้นสื่อของนายพิธา การแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่พรรคก้าวไกลกำลังถูกมองว่าเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง ตลอดจนการตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ว่าเพราะอะไรพรรคก้าวไกลจึงถูกสกัดบนเส้นทางการเมือง

  • ผู้ชุมนุมประท้วงต้องการอะไร?

อมันปรูเปิดฉากด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองของไทยในขณะนี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นและยากที่จะคาดเดา ขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้พากันลงถนนเพื่อประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อมันปูร์ได้ถามนายพิธาเกี่ยวกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่และสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการให้เกิดการปฏิรูป โดยกล่าวว่า "คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบรรดาผู้สนับสนุนของคุณและกลุ่มผู้ที่กำลังประท้วงอยู่บนท้องถนน รวมถึงแนวคิดด้านประชาธิปไตยในประเทศไทย และกรณีที่ผู้ชนะการเลือกตั้งกลับถูกขัดขวางไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี"

นายพิธากล่าวว่า "ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้ประท้วงกำลังเรียกร้องในขณะนี้คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินไปตามกลไกที่ปกติ ผู้ใดก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งก็ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีทั้งอำนาจและความชอบธรรมในการเป็นผู้นำประเทศ"

"แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ เป็นการปะทะกันทางการเมืองระหว่าง 'ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง' และ 'ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง' โดยในบริบทนี้หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งในกรณีนี้พรรคของเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่มีการทำรัฐประหาร ดังนั้น ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คุณจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง นี่คือภูมิทัศน์ของการเมืองไทยโดยรวม" นายพิธากล่าว
  • ปมถือหุ้นสื่อ มีที่มาที่ไปอย่างไร?

อมันปูร์ได้ถามนายพิธาเกี่ยวกับกรณีการถือหุ้นสื่อว่ามีความเป็นมาอย่างไร เนื่องจากกรณีนี้เป็นหนึ่งในปมสำคัญที่ทำให้นายพิธาถูกขัดขวางจากการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายพิธาชี้แจงว่า "ความจริงแล้วผมไม่ได้ถือหุ้นดังกล่าว แต่เป็นหุ้นของคุณพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว และหุ้นที่ว่านี้ก็เป็นบริษัทสื่อที่ปิดกิจการไปแล้วเมื่อ 17 ปีก่อน ผมในฐานะผู้จัดการมรดก ผมไม่มีทางได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองใด ๆ จากการถือหุ้นเหล่านั้น แต่ช่างบังเอิญที่คดีของผมถูกตัดสินก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาเพียง 2 ชั่วโมง และได้ทำให้เกิดข้อกังขาจากทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศที่ติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด"

  • คิดว่ายังมีโอกาสที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองได้ต่อไปหรือไม่?

อมันปูร์ถามนายพิธาว่า จากสถานการณ์ที่นายพิธากล่าวมาทั้งหมดนั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า เขาอาจจะไม่ได้ชวดแค่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจทำให้เขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะดำรงตำแหน่งในรัฐสภาอีกต่อไป พร้อมกับถามนายพิธาว่า "เขาจะสามารถเอาชนะกรณีนี้ได้หรือไม่ เพื่อฟื้นฟูเส้นทางอาชีพทางการเมืองของเขาได้อีกครั้งหนึ่ง? "

นายพิธากล่าวว่า "ผมมองว่าการเสนอชื่อผมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น 'ยังคงมีความเป็นไปได้' ส่วนคำถามที่ว่าผมจะสามารถทำอะไรเพื่อต่อสู้ได้บ้างนั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดผมควรจะมีสิทธิในการอุทธรณ์ มีสิทธิในการโต้แย้ง และมีสิทธิที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ จากแง่มุมของผมเอง แต่ขณะนี้ผมยังไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเรียกผมให้ไปชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อต่อจากคุณพ่อของผมในฐานะผู้จัดการมรดก ผมก็หวังว่าเรื่องนี้จะได้รับความกระจ่าง และผมหวังว่าการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะกลับมาดำเนินต่อไปได้"

  • รู้สึกเสียใจไหมที่ดึงดันจะแก้ไขมาตรา 112 ?

อมันปูร์ถามนายพิธาเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นเปราะบางที่ทำให้หลายฝ่ายใช้เป็นข้อโจมตีนายพิธามาโดยตลอด จนถึงขนาดมีผู้สนับสนุนนายพิธาบางคนกล่าวว่า "พิธากำลังขุดหลุมฝังตัวเอง" ด้วยการเสนอนโยบายนี้ พร้อมกับถามนายพิธาว่า เขารู้สึกเสียใจกับการนำเสนอนโยบายนี้หรือไม่

นายพิธาตอบว่า "ผมไม่รู้สึกเสียใจแม้แต่น้อย ผมคิดว่าการคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นเป็นเป้าหมายของคนไทยทุกคน แต่ถึงกระนั้นแนวทางของแต่ละฝ่ายอาจมีความแตกต่างกัน กลุ่มคนที่พยายามต่อต้านความพยายามของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 อาจมองว่า การแก้ไขกฎหมายอาจเปิดช่องให้คนมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าถ้าเราสามารถปรับแก้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล กฎหมายนี้ก็จะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายคู่แข่งผ่านกลไกของมาตรา 112 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

"ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำคือ การรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวางสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อยู่เหนือการเมือง แต่เห็นได้ชัดว่าบางคนใช้สิ่งนั้นเป็นอาวุธเพื่อทำลายเรา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้าคุณติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ 10 ปีก่อน, 20 ปีก่อน หรือ 30 ปีก่อน คุณจะพบว่ามีผู้ที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ประโยชน์ทางการเมือง นั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะหยุดยั้งเพื่อให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง" นายพิธากล่าว
  • นโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลทหารแสดงท่าทีขัดขวางหรือไม่?

อมันปูร์ตั้งคำถามต่อไปว่า ตามที่นายพิธากล่าวมาข้างต้นว่าประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เขาคิดว่ารัฐบาลทหารรู้สึกกังวลเกี่ยวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของนายพิธาหรือสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะปฏิรูปหรือไม่ จึงทำให้มีการขัดขวางเกิดขึ้น

นายพิธาตอบว่า "ผมคิดว่าการที่พรรคก้าวไกลถูกขัดขวางเป็นเพราะพรรคของเรามีเป้าหมายแบบ "3D" โดย D ตัวแรกคือ Demonopolize หรือทลายทุนผูกขาด, D ตัวที่สองคือ Decentralize หรือกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง และ D ตัวท้ายสุดคือ Demilitarize หรือเอาทหารออกจากการเมือง แน่นอนว่าต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อสร้างหลักประกันว่ากองทัพจะมีความเป็นมืออาชีพและทันต่อความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21"

"นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายที่จะทลายทุนผูกขาดในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย รวมถึงการกระจายบริการสาธารณะไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวง เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย และประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ ซึ่งชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้อาจเผชิญกับแรงต่อต้านจากทหาร จากทุนสีกากี (Khaki Capitalism) หรือจากข้าราชการ แต่ผมก็หวังว่าจะมีเวลามากพอที่จะได้โน้มน้าวและอธิบายว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย และเป็นทางออกสำหรับประเทศไทยในการก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในขณะนี้" นายพิธากล่าว
  • เต็มใจสนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และอยากฝากอะไรถึงผู้ชุมนุม?

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ อมันปูร์ได้ตั้งคำถามกับนายพิธา 2 คำถาม โดยคำถามแรกคือ เขาอยากจะฝากอะไรถึงบรรดาผู้สนับสนุนที่ลงถนนประท้วงอยู่ในขณะนี้ และคำถามที่สองคือ เขาจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 หรือไม่

นายพิธากล่าวว่า "อย่างแรกเลยคือ ขอฝากถึงผู้สนับสนุนทุกท่านว่า เราจะชนะอย่างแน่นอน แม้จะไม่ใช่ในทันที ผมหวังว่าเราจะสามารถสะสมชัยชนะเล็ก ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยกัน ส่วนคำถามที่สองนั้น ผมยืนยันว่าผมพร้อมสนับสนุนพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลผสม เพราะไม่ใช่เพียงแค่เป้าหมายส่วนตัวของผมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ผมคิดว่าเราต้องหยุดประเทศไทยจากวงจรของเผด็จการทหาร"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ