รัฐบาลไต้หวันกำลังดำเนินการตรวจสอบว่า การที่บริษัทเทคโนโลยีในใต้หวันให้การช่วยบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ที่โรงงานผลิตชิปหลายแห่งในจีนนั้น เป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐหรือไม่
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งของไต้หวันกำลังช่วยบริษัทหัวเว่ย สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเครือข่ายโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน โดยความร่วมมือครั้งนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดแก่ไต้หวัน ซึ่งกำลังเผชิญกับท่าทีอันแข็งกร้าวของจีน
นางหวัง เหมย-หัว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) ว่า ทางกระทรวงเห็นด้วยที่จะดำเนินการตรวจสอบความสัมพันธ์อันไม่ธรรมดานี้ โดยเธอตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนายไล จุยหลัง สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ระหว่างการประชุมสภา ซึ่งจัดขึ้นหลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในสัปดาห์นี้ว่า มีคนงานจากบริษัทไต้หวัน 4 แห่งที่กำลังทำงานในโรงงานผลิตชิปในจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย โดยนายไลได้ขอให้มีรายงานการตรวจสอบเบื้องต้นภายในเดือนนี้
รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ท่ามกลางฤดูร้อนที่ร้อนระอุของช่วงปลายเดือนส.ค. ในเมืองเซินเจิ้น สถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัทที่ได้รับทุนจากหัวเว่ยนั้น เต็มไปด้วยคนงาน โดยคนงานสวมหมวกนิรภัยรวมตัวกันอยู่รอบ ๆ แผงขายของริมถนน และวิธีเดียวที่จะแยกพวกเขาออกคือเสื้อชูชีพสีสันสดใสที่แสดงชื่อและโลโก้ของนายจ้าง
รายงานยังระบุด้วยว่า คนงานเหล่านี้ประกอบด้วยแรงงานจากบริษัทไต้หวัน ได้แก่ ท็อปโค ไซแอนทิฟิค (Topco Scientific) ผู้ค้าปลีกวัสดุชิป และบริษัทในเครือของแอลแอนด์เค เอ็นจิเนียริ่ง (L&K Engineering) ส่วนที่ไซต์ก่อสร้างอีกแห่งของบริษัทในเครือหัวเว่ย สำนักข่าวบลูมเบิร์กตรวจพบ แรงงานจากบริษัทในเครือของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอย่างยูไนเต็ด อินทิเกรทเต็ด เซอร์วิส (United Integrated Services)
ขณะเดียวกัน บริษัทซิกา-ฮันเทค เคมิคอล เทคโนโลยี ไต้หวัน (Cica-Huntek Chemical Technology Taiwan) ของไต้หวันระบุผ่านทางเว็บไซต์ว่า บริษัทคว้าสัญญาในการสร้างระบบจ่ายสารเคมีให้กับผู้ผลิตชิปในจีน 2 ราย ได้แก่ บริษัทเซินเจิ้น เพนซุน เทคโนโลยี (Shenzhen Pensun Technology) และบริษัทเผิงซินเว่ย ไอซี แมนูแฟคเจอริ่ง (Pengxinwei IC Manufacturing) ซึ่งถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองบริษัททำงานร่วมกับหัวเว่ยเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิป
อย่างไรก็ดี บริษัทได้ลบข้อมูลอ้างอิงทางออนไลน์ หลังจากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งรับผิดชอบด้านการควบคุมการส่งออก ระบุว่า จะเข้าตรวจสอบความสัมพันธ์ของบริษัทไต้หวันทั้ง 4 แห่งกับหัวเว่ย เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจจุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน