นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศจัดตั้งคณะที่ปรึกษา 39 คน เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) เพื่อให้คำแนะนำในประเด็นต่าง ๆ ด้านการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างประเทศ
สมาชิกดังกล่าวประกอบด้วยผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่สเปน ไปจนถึงซาอุดีอาระเบีย และนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ รัสเซีย และญี่ปุ่น
ในบรรดาผู้บริหารที่เป็นตัวแทนบริษัทเทคโนโลยี รวมถึง นายฮิโรอากิ คิตาโนะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทโซนี่, นางมีรา มูราติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทโอเพนเอไอ และนางนาตาชา แครมป์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอไอของบริษัทไมโครซอฟท์
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจาก 6 ทวีปซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีภูมิหลังหลากหลาย ตั้งแต่ นายวิลาส ธาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอจากสหรัฐ ไปจนถึงนายอี้ เฟิง ศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์จีน และนายโมฮาเหม็ด ฟาราฮัต ทนายความชาวอียิปต์
"ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของเอไอนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำความเข้าใจได้" นายกูเตอร์เรส ระบุในแถลงการณ์
"และหากปราศจากการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่เลวร้ายในระดับสถานการณ์วันสิ้นโลกแล้วละก็ มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้เอไอในทางที่ผิดอาจบ่อนทำลายความไว้วางใจของผู้คนในองค์กรต่าง ๆ ทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมอ่อนแอลง และยังเป็นการคุกคามประชาธิปไตยอีกด้วย" นายกูเตอร์เรส กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับตั้งแต่บริษัทโอเพนเอไอเปิดตัวแชตจีพีที (ChatGPT) เมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสความสนใจในเอไอไปทั่วโลก ส่งผลให้นักวิจัยด้านเอไอออกมาแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงต่อสังคม
องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า หน่วยงานของสหประชาชาติจะออกข้อเสนอแนะเบื้องต้นภายในสิ้นปีนี้ และจะออกคำแนะนำขั้นสุดท้ายภายในฤดูร้อนปี 2567 สำหรับภารกิจเร่งด่วนได้แก่ การสร้างฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลก เกี่ยวกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ของเอไอ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลด้านเอไอต่อไป