ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสหรัฐเพียง 14% เท่านั้นที่เชื่อว่า พวกเขามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ผลงานทางเศรษฐกิจของปธน.ไบเดนอาจบั่นทอนโอกาสคว้าชัยในศึกเลือกตั้งสมัยหน้า
ผลสำรวจพบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 70% คิดว่า นโยบายเศรษฐกิจของปธน.ไบเดนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐหรือไม่ส่งผลอะไรเลย ซึ่งรวมถึง 33% เชื่อว่า นโยบายดังกล่าว "ส่งผลเสียอย่างมาก" ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ มีเพียง 26% เท่านั้นที่ระบุว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส และโรงเรียนธุรกิจรอสส์ (Ross School of Business) แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพื่อประเมินว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการเลือกตั้งปธน.อย่างไรบ้าง โดยเมื่อปี 2523 นายโรนัลด์ เรแกน จากพรรครีพับลิกัน เคยถามคำถามเดียวกันนี้กับเหล่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นใบเบิกทางไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือประธานาธิบดีสมัยนั้นอย่างนายจิมมี คาร์เตอร์ จากพรรคเดโมแครต
ทั้งนี้ ผลสำรวจในลักษณะเดียวกันซึ่งจัดทำโดยไฟแนนเชียล ไทม์ส เมื่อ 4 ปีก่อนแสดงให้เห็นว่า ชาวสหรัฐส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าสถานะทางการเงินดีขึ้นภายใต้การบริหารของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ดีกว่าผลสำรวจในตอนนี้ เพราะเมื่อเดือนพ.ย. 2562 นั้น มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 35% ที่เชื่อว่า พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้การบริหารของนายทรัมป์ ขณะที่ 31% ระบุว่า ชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลง
ผลสำรวจครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นอุปสรรคในแคมเปญหาเสียงของปธน.ไบเดน ที่พยายามโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้เชื่อในกลยุทธ์ของปธน.ไบเดนในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และฟื้นฟูค่าจ้างของชนชั้นกลางที่ซบเซามานานหลายปี