หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ระบุว่า เรือลำหนึ่งของฟิลิปปินส์ถูก "กระแทก" โดยเรือยามฝั่งของจีนระหว่างภารกิจส่งเสบียงในวันนี้
นายเจย์ ทาร์เรียลา โฆษกหน่วยยามฝั่งทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า เรือจีนลำหนึ่งยังได้ "ยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูง" ใส่เรือฟิลิปปินส์ 3 ลำที่เกี่ยวข้องกับภารกิจส่งเสบียง ส่งผลให้เครื่องยนต์ของเรือลำหนึ่งได้รับความเสียหายร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม หน่วยยามฝั่งจีนกล่าวหาเรือฟิลิปปินส์ว่า "จงใจชน" เรือจีนลำดังกล่าว หลังจาก "เพิกเฉยต่อคำเตือนเข้มงวดหลายครั้งของเรา"
"เรือฟิลิปปินส์เปลี่ยนเส้นทางอย่างกะทันหันด้วยวิธีการที่ไม่เป็นมืออาชีพและเป็นอันตราย โดยจงใจชนกับเรือยามฝั่งของจีนหมายเลข 21556 ของเราซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจรักษากฎหมายตามปกติ จนทำให้เกิดรอยขีดข่วน" หน่วยยามฝั่งจีนระบุในแถลงการณ์
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างภารกิจส่งเสบียงของฟิลิปปินส์ไปยังที่ตั้งกองทหารขนาดเล็กในสันดอนโธมัสที่ 2 ในหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน โดยเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ฟิลิปปินส์กล่าวหาหน่วยยามชายฝั่งของจีนว่าใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อ "ขัดขวาง" เรือของรัฐบาลฟิลิปปินส์ 3 ลำที่กำลังจัดส่งเสบียงไปให้ชาวประมงฟิลิปปินส์ใกล้สันดอนสการ์โบโรห์ นอกเกาะลูซอน
เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ ขบวนเรือพลเรือนที่มีชาวประมงชาวฟิลิปปินส์ 100 คน ได้ออกเดินทางผ่านสันดอนโธมัสที่ 2 โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งมอบความสุขในเทศกาลคริสต์มาสและส่งเสบียงไปยังด่านนอกอันห่างไกล
อนึ่ง สันดอนโธมัสที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะปาลาวันทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ประมาณ 200 กิโลเมตร และห่างจากเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีนมากกว่า 1,000 กิโลเมตร
ทหารฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งประจำการอยู่บนเรือบีพีอาร์ เซียร์รา มาเดร (BRP Sierra Madre) ที่ทรุดโทรม ซึ่งกองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้เกยตื้นบนแนวปะการังในปี 2542 เพื่อตรวจสอบการรุกคืบของจีนในน่านน้ำ ทหารกลุ่มนี้พึ่งพาภารกิจส่งเสบียงเพื่อความอยู่รอด
ทั้งนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเรือขนส่งของฟิลิปปินส์สามารถส่งมอบเสบียงได้สำเร็จหรือไม่
ฟิลิปปินส์และจีนมีเหตุกระทบกระทั่งทางทะเลในทะเลจีนใต้มาอย่างยาวนาน โดยพื้นที่พิพาทดังกล่าวมีมูลค่าทางการค้าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แม้จะมีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกในปี 2559 ว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือน่านน้ำดังกล่าวไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายและการสร้างหมู่เกาะเทียมในน่านน้ำพิพาทถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการพิจารณาคดีและเพิกเฉยต่อคำพิพากษาดังกล่าว