การลงประชามติดังกล่าวถือเป็นเป็นครั้งที่สองในรอบสองปีที่ชาวชิลีโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ประท้วงปัญหาความเหลื่อมล้ำครั้งใหญ่เมื่อปี 2562
เดิมที สภาชุดแรกที่ได้รับเลือกให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีฝ่ายซ้ายเป็นเสียงส่วนใหญ่ และร่างดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ความยุติธรรมทางสังคม สิทธิของชนพื้นเมือง ประเด็นสิ่งแวดล้อม และสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ แต่ร่างดังกล่าวถูกประชาชนชาวชิลีโหวตไม่เห็นด้วยอย่างท่วมท้นเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว
หลังจากนั้น ผลการเลือกตั้งสภาชุดที่สองพลิกขั้วไปทางฝ่ายขวา ทำให้สภาชุดนี้มีสมาชิกจากพรรคอนุรักษนิยมเป็นเสียงข้างมาก โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ถือว่ามีความเป็นอนุรักษนิยมและสนับสนุนตลาดเสรีมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเน้นไปที่สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล กฎควบคุมการเข้าเมืองและกฎหมายควบคุมการทำแท้งที่เข้มงวด
ทั้งนี้ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงของประเทศชิลี และความไม่พอใจโดยทั่วไปต่อกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"ประเทศนี้ถูกแบ่งขั้ว แตกแยก" ประธานาธิบดีกาเบรียล โบริก ผู้นำชิลี กล่าวปราศรัยผ่านโทรทัศน์ พร้อมเสริมว่า ผลการลงมติแสดงให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าว "ไม่สามารถตอบสนองความหวังที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนขึ้นโดยทุกคน"
ปธน.โบริกย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นครั้งที่สามแล้ว และจะเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญและภาษีผ่านสภานิติบัญญัติ
"สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคือความสามารถในการเจรจากันที่ดีขึ้น การสร้างฉันทามติ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการลงมือทำ" ปธน.โบริกกล่าว
ด้านนายเคนเนธ บังเกอร์ นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า "ในที่สุด หลังจากการถกเถียงและพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญกันอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาสี่ปี เราก็กลับมาที่จุดเดิม" พร้อมเสริมว่า ผลการลงมติครั้งนี้น่าจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนมากขึ้น
"ผมไม่คิดว่าการพูดคุยเรื่องนี้จะหยุดลง" นายบังเกอร์กล่าว และคาดว่าการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป