สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวทางการทูตของตุรกี ระบุว่า นายฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศตุรกี ได้หารือทางโทรศัพท์กับนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) โดยขอให้สหรัฐใช้อิทธิพลของตนที่มีต่ออิสราเอล เพื่อหยุดยั้งการโจมตีฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์
ตุรกี ซึ่งสนับสนุนแนวทางแก้ไขแบบสองรัฐ เพื่อยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ ได้วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้ยุติการโจมตีโดยสิ้นเชิง และเรียกร้องให้บรรดาผู้นำอิสราเอลถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลระหว่างประเทศ โทษฐานก่ออาชญากรรมสงคราม รวมถึงวิจารณ์บรรดาชาติตะวันตกที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล
สหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่า สหรัฐสนับสนุนสิทธิในการปกป้องตัวเองของอิสราเอล หลังจากเหตุการณ์การโจมตีข้ามพรมแดนของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่ก็เรียกร้องให้อิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินการตอบโต้ โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซาระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 19,000 ราย และได้สร้างความเสียหายแก่ฉนวนกาซาเป็นอย่างมาก
แหล่งข่าวระบุว่า นายฟิดานแจ้งแก่นายบลิงเกนว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์กำลังย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จากการโจมตีของอิสราเอล ทางด้านนายตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ก็ได้กล่าวกับนายโจโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) ว่า สหรัฐมีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ และมีบทบาทสำคัญเพื่อให้เกิดการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา
แหล่งข่าวกล่าวว่า นายฟิดานเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำอิสราเอลเข้าสู่โต๊ะเจรจา หลังบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเต็มรูปแบบ เพื่อเริ่มต้นกระบวนมุ่งสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งแนวทางแก้ไขแบบสองรัฐ
แม้ว่าตุรกีจะประณามอิสราเอลอย่างรุนแรงว่าเป็น "รัฐก่อการร้าย" สำหรับการกระทำในฉนวนกาซา แต่ตุรกีก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอลต่อไป ส่งผลให้ตุรกีได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้านและมหาอำนาจบางส่วนในภูมิภาค
ด้านนายโอแมร์ โบลาต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าตุรกี กล่าวเมื่อวันศุกร์ (15 ธ.ค.) ว่า การค้าระหว่างตุรกีกับอิสราเอลลดลง 48% นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. และการค้าส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทระหว่างประเทศที่ดำเนินงานในตุรกี