ไต้หวันเผยจีนส่งเครื่องบินรบลาดตระเวน ก่อน "หวังอี้-ซัลลิแวน" เจรจาที่กรุงเทพฯ

ข่าวต่างประเทศ Saturday January 27, 2024 00:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงกลาโหมไต้หวันเปิดเผยว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวน 23 ลำได้ทำการบินใกล้เกาะไต้หวันในวันนี้ และทำการลาดตระเวนเพื่อเตรียมความพร้อมรบร่วมกับเรือรบของจีน ก่อนที่จีนและสหรัฐจะจัดการเจรจาทวิภาคีที่ประเทศไทย

กระทรวงฯ ระบุว่า มีการตรวจพบว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวน 23 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่ Su-30 และโดรนได้ทำการบินนอกน่านน้ำทางตอนเหนือและตอนกลางของไต้หวัน

นอกจากนี้ เครื่องบินรบของจีนจำนวน 13 ลำได้ล้ำเส้น median line ในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นกั้นเขตแดนอย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีนและไต้หวัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของเส้นดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ระบุว่า นายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะพบปะกับนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ในวันที่ 26-27 ม.ค.ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือในหลากหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ และประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน

"ในการประชุมครั้งใหม่นี้ ท่านรัฐมนตรีจะแสดงจุดยืนของจีนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน ขณะที่จะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองอื่นๆ กับทางสหรัฐเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นระหว่างประเทศและในภูมิภาค" แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศระบุ

การพบปะกันดังกล่าวระหว่างนายหวังและนายซัลลิแวนนับเป็นการสานต่อการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน นอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐในเดือนพ.ย.2566

นอกจากนี้ นายซัลลิแวนได้เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคง พลังงานสะอาด การค้า และวิกฤตการณ์ในเมียนมา

ด้านนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยมีความยินดีที่จีนและสหรัฐเลือกจัดการประชุมอีกครั้งในประเทศไทย หลังการประชุมครั้งล่าสุดที่สหรัฐในเดือนพ.ย.2566 เพราะไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี การประชุมดังกล่าวเป็นรูปแบบทวิภาคี ซึ่งไทยไม่มีบทบาทในการจัดการประชุมแต่อย่างใด แต่เรายินดีที่ได้เป็นสถานที่สำหรับการประชุม และมั่นใจว่าการหารือของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคง และพัฒนาการของประเทศในภูมิภาคและระดับโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ