อาร์เมเนียเข้าร่วมกับศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ด้านรัสเซียเคืองหนัก

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 1, 2024 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเยกิเช คิราโคซยัน ตัวแทนประจำประเทศอาร์เมเนียด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาร์เมเนียเข้าร่วมกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (1 ก.พ.)

"ธรรมนูญกรุงโรมของ ICC มีผลบังคับใช้กับอาร์เมเนียอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ." นายคิราโคซยันกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียเรียกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของอาร์เมเนียว่าเป็น "ก้าวที่ไม่เป็นมิตร" เพราะเมื่อเดือนมี.ค. ปีที่แล้ว ICC ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โทษฐานก่อสงครามในยูเครน

ทั้งนี้ การเข้าร่วมกับ ICC มีความหมายว่า หากปธน.ปูตินมาเยือนประเทศ อาร์เมเนียมีหน้าที่ต้องจับกุม

อนึ่ง อาร์เมเนียเป็นที่ตั้งฐานทัพถาวรของรัสเซียและเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารของอดีตสหภาพโซเวียตที่มีรัสเซียรวมอยู่ด้วย

ด้านนายนิกอล ปาชินยัน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย พยายามบรรเทาความกังวลของรัสเซียโดยกล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้เน้นมุ่งเป้าไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูกันอย่างอาเซอร์ไบจาน ซึ่งสองประเทศนี้ทำสงครามกันมาแล้ว 2 ครั้งจากกรณีข้อพิพาทภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค

"การเข้าร่วมกับ ICC ช่วยให้อาร์เมเนียมีเครื่องมือสำคัญในการป้องกันอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติบนดินแดนของตน" นายคิราโคซยันกล่าว

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นสัญญาณถึงรอยร้าวระหว่างอาร์เมเนียกับรัสเซีย โดยอาร์เมเนียไม่พอใจที่รัสเซียไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน

เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว กองกำลังอาเซอร์ไบจานบุกโจมตีคาราบัค ที่ซึ่งกองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซียประจำการอยู่ ส่งผลให้กองกำลังแบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนียที่ควบคุมภูมิภาคแห่งนี้มานานหลายทศวรรษประกาศยอมแพ้

ด้านนายวีเกน ฮากอบยัน นักวิเคราะห์อิสระ กล่าวกับเอเอฟพีว่า "อาร์เมเนียหวังว่าการเข้าร่วมกับ ICC ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวของรัสเซีย จะทำให้ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากตะวันตก"

"แต่เห็นได้ชัดว่ามันทำให้ความสัมพันธ์กับรัสเซียตึงเครียด โดยไม่มีอะไรการันตีว่าตะวันตกจะให้ความปลอดภัยจริง ๆ"

ทั้งนี้ อาร์เมเนียลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2542 แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยอ้างว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญอาร์เมเนียกล่าวเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้วว่า อุปสรรคเหล่านั้นหมดไปแล้ว หลังจากอาร์เมเนียใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2558

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา อาร์เมเนียได้ยื่นสัตยาบันสารสำหรับธรรมนูญกรุงโรมอย่างเป็นทางการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ