บรรดาผู้ทรงอิทธิพลบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) หรือชื่อเดิมคือทวิตเตอร์ กำลังสร้างรายได้จากการโพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยใช้ประโยชน์จากนโยบายแบ่งปันรายได้ของเอ็กซ์ ซึ่งนักวิจัยมองว่าให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมมากกว่าความถูกต้อง
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นับตั้งแต่ที่นายอีลอน มัสก์ เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อปี 2564 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนี้ก็ได้ปลดแบนบัญชีผู้ใช้งานที่ถูกระงับหลายพันบัญชี และเปิดใช้งานระบบยืนยันตัวตนแบบชำระเงิน ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่านำไปสู่การขยายวงกว้างของนักทฤษฎีสมคบคิดบนแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้ เอ็กซ์ยังได้เปิดตัวโปรแกรมแบ่งปันรายได้จากโฆษณาให้แก่ผู้ใช้งานที่ยืนยันตัวตน ซึ่งมักจะโพสต์ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงและเต็มไปด้วยความเกลียดชังเพื่อหากำไรจากแพลตฟอร์มดังกล่าว
อิมราน อาเหม็ด ผู้บริหารระดับสูงของศูนย์เพื่อการต่อต้านความเกลียดชังทางดิจิทัล (CCDH) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้เหล่าบัญชีผู้ใช้ที่ชื่นชอบการโต้เถียง "จงใจสร้างความโกรธเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมตามเกมของแพลตฟอร์ม เพื่อจะได้มีคนเห็นโพสต์มากขึ้น และทำให้มีรายได้มากขึ้นเมื่อมีคนรับชม"
รายงานระบุว่า เอ็กซ์ยังเผชิญกับคลื่นข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากผู้มีอิทธิพลที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ เช่น แจ็คสัน ฮิงเคิล ซึ่งได้เผยแพร่วิดีโอเท็จที่อ้างว่าอิหร่านวางระเบิดฐานทัพทหารสหรัฐในอิรัก
ในอีกโพสต์หนึ่งที่สำนักข่าวเอเอฟพีพบว่าไม่เป็นความจริง นายฮิงเคิลกล่าวอ้างว่า เยเมนได้ประกาศสงครามกับอิสราเอลเพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้ถล่มอิสราเอลด้วยขีปนาวุธและโดรน แต่ในความเป็นจริงนั้น ทั้งรัฐบาลเยเมนและกลุ่มฮูตีเองไม่เคยประกาศสงครามอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายฮิงเคิลระดมทุนได้หลายหมื่นดอลลาร์ตามเว็บไซต์คราวด์ฟันดิง นอกจากนี้ยังนำเสนอคอนเทนต์ระดับพรีเมียมให้กับสมาชิกเอ็กซ์ในราคา 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่เขาปฏิเสธที่จะตอบว่าเขาทำรายได้มากเพียงใดจากแพลตฟอร์มนี้ ขณะที่ CCDH คาดการณ์โดยอิงตามข้อมูลการมีส่วนร่วมของโพสต์เฉพาะสมาชิกว่า นายฮิงเคิลน่าจะทำเงินได้อย่างน้อย 3,000 ดอลลาร์ต่อเดือนจากสมาชิกแบบชำระเงิน