ขณะที่ เอกสารอื่น ๆ ที่รั่วไหลชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการเจาะระบบหน่วยงานรัฐ และธุรกิจทั่วเอเชียและยุโรป แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการล้วงข้อมูลไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวตนของผู้ที่ทำข้อมูลของไอ-ซูนรั่วไหล
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ไอ-ซูนเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับกองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของจีน ซึ่งมีพนักงานไม่ถึง 25 คนที่สำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้
สถานทูตอังกฤษประจำประเทศจีนระบุว่า ทางหน่วยงานไม่ทราบถึงการรั่วไหลดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า จีนไม่ยอมรับและต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ตำรวจจีนและไอ-ซูนกำลังตรวจสอบเหตุข้อมูลรั่วไหลครั้งนี้
เอกสารจำนวน 577 ฉบับ และบันทึกการสนทนามากมายของไอ-ซูนรั่วไหลออกมาบนกิตฮับ (GitHub) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ ในวันที่ 16 ก.พ. โดยนักวิจัยด้านความปลอดภัย 3 คนเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ข้อมูลที่รั่วไหลดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นของจริง
เอกสารดังกล่าวเผยให้เห็นถึงการทำงานตลอดระยะเวลา 8 ปีของไอ-ซูนในการดึงข้อมูลและเข้าถึงระบบในอังกฤษ ฝรั่งเศส และหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไต้หวัน ปากีสถาน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งหนึ่งในเอกสารดังกล่าวมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า องค์กรรัฐบาลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนจ่ายเงินประมาณ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ (11,900 ปอนด์) เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ของตำรวจจราจรเวียดนาม และข้อมูลที่เผยให้เห็นว่า ซอฟต์แวร์การทำข้อมูลเท็จบนเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์มีราคาอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (79,000 ปอนด์)